วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เหลียวมองรอบข้าง ส่องทางพัฒนา

24 ธันวาคม 2553
     โรงพยาบาลสารภีได้จัดงานเสวนา "เหลียวมองรอบข้าง ส่องทางพัฒนา" ที่โรงพยาบาลสารภีเพื่อสะท้อนมุมองจากสังคมที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลสารภี ความคาดหวังเพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการและบริบทของพื้นที่ โดยมีกิจกรรมการเสวนาจากตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ กรรมการพัฒนาโรงพยาบาล ผู้นำท้องถิ่น ผู้สูงอายุ ประชาชน เยาวชน อสม.และจิตอาสา ซึ่งดำเนินกิจกรรมในห้องประชุมโรงพยาบาลสารภี มีเรื่องเล่า "โรงพยาบาลสารภี" โดยตัวแทนชมรมจิตอาสา อปพร.และ อสม. แข่งขันการกล่าวปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง "ถ้าฉันเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลสารภี"
และประกวดวาดภาพในหัวข้อ "โรงพยาบาลสารภีในฝัน" มีนักเรียนเข้าร่วมประกวด 9 คน
ใช้สถานที่ที่ห้องประชุมศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลสารภี



คณะกรรมการประกอบด้วยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสารภี  คือ คุณเดือนเต็ม ตุ่นทรายคำ อาจารย์จากโรงเรียนชุมชนวัดปากกอง สารภี อาจารย์สุภัตรา บุญทวี และนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ น.ส.ธนัชชา  ไชยรินทร์ โดยมีเกณฑ์การให้คะแนน
ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 40 คะแนน องค์ประกอบศิลป์ 20 คะแนน เนื้อหาและเรื่องราวของภาพ 20 คะแนน และเทคนิควิธีการ 20 คะแนน



มีผู้ได้รับรางวัลที่ 1 ได้แก่ ด.ญ.ณัฐกฤตา  ใจมาก  ร.ร. วชิราลัย
           รางวัลที่ 2 ได้แก่ ด.ช. อดุลย์ ลุงคำ        ร.ร.ปากเหมือง
           รางวัลที่ 3 ได้แก่ ด.ญ. ดาริน นภาศิรพนา ร.ร.สืบนทีธรรม
           รางวัลชมเชย ได้แก่ ด.ช.วัชรพงษ์  เอื้ออาจิน ร.ร.เวฬุวัน
                                     ด.ญ.ญาณภา  วงศ์สกุลยานนท์ ร.ร.เวฬุวัน
    มีเรื่องราวที่สื่อจากภาพวาดของเด็กๆที่สะท้อนได้อีกอย่างถึงความรู้สึกต่อโรงพยาบาลที่เด็กๆอยากให้เป็นโรงพยาบาลในฝันของตนเองไม่ว่า การสร้างสีสันสดใสของสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม ตึกที่ทันสมัย การแต่งตัวของบุคลากรที่สะอาดเรียบร้อย สีหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสเต็มใจให้บริการ ตลอดถึงการมีเทคโนโลยีหรือพาหนะที่สร้างความรวดเร็วในการให้บริการ เช่น มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งกรรมการที่ตัดสินภาพได้เข้าใจความคิดของเด็กๆได้เป็นอย่างดีว่า ไม่ควรคิดว่าเด็กสร้างภาพไม่เป็นจริง หรือไม่สมจริง แต่ภาพบ่งบอกถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็กที่อยากให้เป็นเช่นเดียวกับ concept ว่า "โรงพยาบาลสารภีในฝัน" การตัดสินภาพของเด็กๆจึงทำให้กรรมการตัดสินใจยากเหมือนกันคะแนนจึงออกมาใกล้เคียงกัน ผู้ที่ได้รับรางวัลที่ด้อยกว่าหรือไม่ได้รับรางวัลก็ไม่ต้องน้อยใจนะคะ งานของทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง หากมีโอกาสที่โรงพยาบาลสารภีจัดงานประกวดอีก ก็มาประกวดกันใหม่นะคะ

          ขอบคุณนักเรียนทุกคนที่มาร่วมประกวด อาจารย์ที่นำส่งและมาให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด คณะกรรมการตัดสิน และผู้บริหารโรงพยาบาลสารภีทุกท่านค่ะ



วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ธรรมนูญสุขภาพตำบลท่าวังตาล

วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม 53  13.30 น.


             มีโอกาสได้ไปร่วมสังเกตการณ์การดำเนินการจัดทำสมัชชาสุขภาพเพื่อนำไปสู่ธรรมนูญสุขภาพของตำบลท่าวังตาลมีเจ้าอาวาสวัดบวกครกเหนือเป็นเจ้าภาพ ได้ยินว่ามีการพูดคุยกันเรื่องวิทยุชุมชนกันมาตั้งแต่ภาคเช้าแล้ว บ่ายเลยเข้าร่วมสมัชชาสุขภาพต่อ มีหลายภาคส่วนของตำบลเช่น ดีเจวิทยุชุมชน ประธาน อสม. อสม.องค์กรส่วนท้องถิ่น กลุ่มต่างๆหลายกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มที่จัดตั้งเพื่อสวัสดิการของสังคมท่าวังตาล (ต้องขออภัยที่เอ่ยนามมาไม่หมด) แต่ก็คุ้นหน้าคุ้นตาดี  นอกจากส่วนของสังคมแล้วก็มีส่วนของหน่วยงานรัฐ ได้แก่ หน่วยงานด้านสุขภาพ(แน่นอนค่ะ...เพราะงานนี้เป็นเรื่องสุขภาพนี่คะ) มีคุณหมอจรัส สิงห์แก้ว ผอก.โรงพยาบาลสารภีเป็นหลัก คุณนภาพร มูลมั่ง สาธารณสุขอำเภอสารภี คุณสุภาพ ผอก.รพสต.ท่าวังตาล และที่ขาดไม่ได้คือ ส่วนของวิชาการ งานนี้มาเพียบเลยค่ะ ทั้งอาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพายัพ วพบ.พระบรมราชชนนีเชียงใหม่ ที่สำคัญคือ ดร.วันทนีย์ ชวพงษ์ และอาจารย์สุทธิพงษ์ วสุโสภาผล ที่เป็น Moderator โดยอาจารย์สุทธิพงษ์ ได้กรุณาเลคเช่อร์เกี่ยวกับสมัชชาสุขภาพ เครื่องมือสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ข้าเจ้าก็นั่งฟังอย่างตั้งอกตั้งใจเพราะเป็นเรื่องใหม่ของพยาบาล ปกติข้าเจ้าไม่ค่อยอยากฟังอะไรที่ยากๆหรอกค่ะ แถมไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับพยาบาลเท่าไหร่ แต่ตอนนี้ต้องมานั่งเรียนรู้ไปกับชุมชน เลยเกิดความรู้สึกว่า โลกนี้ช่างกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งนัก เราเป็นเพียงตัวตนเล็กๆที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของโลกเท่านั้นเอง ยิ่งค้นหายิ่งน่าสนใจ ที่สำคัญช่วยลดอัตตาตนเองที่คิดว่าเราเป็นคุณแม่รู้ดีได้เป็นอย่างดี เพราะชุมชนเขารู้ตัวของเขาเองได้ดียิ่งกว่า 
            วกกลับมาเรื่องสมัชชาดีกว่านะคะ หลังจากที่อาจารย์สุทธิพงษ์ได้บรรยาย ก็มาdiscuss กันว่าจะเริ่มต้นอย่างไร อาจารย์บอกว่า ตำบลมีทุนเดิมของตนเองเพียงแต่ต้องการการเชื่อมโยงและขยายผลเรียกว่าเป็นแก่น มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด โดยมีหน่วยงานต่างๆที่สนับสนุนอยู่วงนอก ระบบนโยบายสาธารณะของท่าวังตาลเริ่มต้นมาจากสวัสดิการของชุมชน ที่เป็น normal interest ที่คนท่าวังตาลเห็นพ้องต้องกันว่า "เอาโตย" มีการเปลี่ยนแปลงฐานคิดของชุมชนที่หมุนไปเรื่อยๆ มีการพูดคุยกันเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการสอบทวนแล้วนำไปปฏิบัติโดยตัวชุมชนเองเป็นผู้กำหนดทิศทางว่าจะไปทางไหน จึงจะเป็นนโยบายของสาธารณะ ไม่ใช่นโยบายเพื่อสาธารณะที่จัดทำโดยรัฐ สรุปคร่าวๆตามผังดังนี้ (คุณรุ่ง สุริยาเป็นคนสรุปค่ะ มิใช่ข้าเจ้า อิอิ)



             จากที่ discuss กัน เปิดใจพูดกันเรื่องแรงบันดาลใจที่จะทำนโยบายสาธารณะทั้งของ ผอ.โรงพยาบาลสารภี ทั้งอสม. ที่มีแนวคิดและความต้องการด้านสุขภาพเพื่อจูนคลื่นให้ตรงกัน เช่น ข้อมูลคืนกลับสู่ชุมชน เพื่อสร้างความตระหนกและตระหนัก อาจารย์สุทธิพงษ์ได้เสนอว่า น่าจะพูดจุดประเด็นให้กระแทกใจเพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นจุดหักมุม  แล้วจะมีการขับเคลื่อนเพื่อให้มีข้อตกลงสาธารณะเพื่อสุขภาพได้อย่างไร ผอ.โรงพยาบาลสารภีได้เสนอว่า แต่ละตำบลของอำเภอสารภีได้มีประสบการณ์ทำธรรมนูญสุขภาพมาบ้างแล้ว เช่น ตำบลดอนแก้ว ขัวมุง ฯ และมองว่าทั้ง 12 ตำบล สามารถทำได้เกิน 80% น่าจะจัดทำทั้งอำเภอเพราะท่านต้องดูแลสุขภาพทั้งอำเภออยู่แล้ว ไปๆมาๆผอ.โรงพยาบาลสารภีขยับจากการทำธรรมนูญสุขภาพของตำบลขยายไปทั้งอำเภอแล้วเจ้าค่ะ...
            อาจารย์สุทธิพงษ์ได้สรุปว่า สิ่งที่ต้องมีเบื้องต้นก็คือ
  1. มีเรื่องเล่าเร้าพลัง
  2. เชื่อมโยงกลไก คน เงิน งาน ประเด็น
  3. มีข้อตกลงสาธารณะเพื่อสุขภาพร่วมกันทุกตำบล
  4. ต้องมีกระบวนการร่วม (ออกแบบที่ดี) ทำซ้ำๆ
              ผอ.โรงพยาบาลสารภีได้เสนอใช้วัดบวกครกเหนือเป็นสถานที่หลักในการประชุม พูดจาปรีกษาหารือ ส่วนแกนนำค่อยขยายเพิ่มว่าจะมีใครเข้ามาช่วยโดยสมัครใจ
วิชาการ: แกนหลักเป็นคณะพยาบาลศาสตร์ มช. แกนร่วมคือ  มหาวิทยาลัยพายัพ วพบ.พระบรมราชชนนีเชียงใหม่ และอื่นๆ
หน่วยงานภาครัฐ : รพ. สสอ.  อปท.ในตำบล 
ภาคประชาสังคม : อสม. ผู้นำชุมชน ผู้สูงอายุ ฯลฯ
   ผอ.โรงพยาบาลสารภีรับเป็นสำนักเลขาฯ ในระยะแรก มี ดร.ฐาวรี เป็นผู้ดำเนินการในตำแหน่งเลขาฯ (งานเข้าแล้ว น้องอ้วน...ได้บุญนะคะ ทำไปเถอะน้าาา) ออกแบบทำให้เกิดกระบวนการคุยกันและได้คิดกันไปเรื่อยๆ มีการสะสม แล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไรค่อยประเมินนะคะ ให้สุกงอมด้วยตัวมันเอง ต่อยอดไปเรื่อยๆ
      กำหนดคุยกันครั้งแรกที่วัดบวกครกเหนือวันเสาร์ที่ 29  มกราคม 2554 เวลา 9.00 น. ไปเรื่อยๆ เพื่อการพูดอย่างปราณีต เจ้าอาวาสจะเลี้ยงขนมจีน ผอ.จรัสจะร่วมเป็นเจ้าภาพด้วยคร้า... ท่านอ้วนเจ้าอาวาสจะออกหนังสือเชิญ "แก๋นอื่น" ให้นะคะ โดยมีเนื้อหา มี story telling สัก 3 เรื่อง (อสม.ปริม : เศร้า กินใจ, เคียดแค้นชิงชัง,ตื่นเต้น ) มีการนำเสนอผลการศึกษาที่ทำมาแล้ว ทุนทางสังคม หรือให้ตำบลที่มีนโยบายสาธารณะมาแล้วให้มาเล่าเรื่อง แล้วสุดท้ายยกระดับให้เป็นข้อตกลง จะทำอะไรต่อ อย่างไร
     
      แล้วพบกันนะคะ.....อย่าลืมติดตาม  งานนี้มีลุ้น!!!!!!





                                              

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ตลาดนัดความดี




ต้นเดือนที่ผ่านมามีโอกาสไปประชุมวิชาการเรื่อง “ตลาดนัดความดีสู่จิตบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ภายใต้นวัตกรรมระบบครอบครัวเสมือน”  เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2553 จัดโดยแก้วกัลยาสิกขาลัย สถาบันพระบรมราชชนก วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี งานนี้เป็นการนำเสนอผลงานของน้องนักศึกษาพยาบาล 5 สถาบันในสังกัดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ในการใช้ระบบครอบครัวเสมือนในวิทยาลัยที่ประกอบด้วยทั้งบุคลากรในวิทยาลัย อาจารย์และนักศึกษาที่เป็นการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมให้นักศึกษาพยาบาล  โดยจะเน้นการจัดการศึกษาแบบบูรณาการระหว่างวิชาการ กิจกรรมพัฒนา ให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณสมบัติ เก่ง ดี มีความสุข ในปีงบประมาณ 2554 นี้ได้นำร่องการสอนนักศึกษาพยาบาลในวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี 5 แห่งได้แก่ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีขอนแก่น วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีจักรีรัช ราชบุรี วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีชลบุรี วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครศรีธรรมราช เนื่องจากพยาบาลถือว่าเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้ใช้บริการมากกว่าบุคลากรอื่นๆ โดยนำระบบครอบครัวเสมือนมาใช้ ให้นักศึกษาทุกคนดูแลผู้ให้บริการเปรียบเสมือนว่าเป็นญาติใกล้ชิดหรือเป็นคน ครอบครัวเดียวกับนักศึกษา ซึ่งจะทำให้เกิดสายใยแห่งความเอื้ออาทรขึ้นในจิตใจ และพฤติกรรมที่แสดงออก เพื่อให้ผู้รับบริการพึงพอใจ และได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ซึ่งจะเริ่มฝึกนักศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 - 4 มีการขยายผลลงสู่ อสม.ด้วย


โดยหลักการก็คิดว่า ดีเหมือนกันนะ หากจะนำมาปรับใช้ในโรงพยาบาลบ้าง อย่างน้อยก็มีตัวชี้วัดของทีม HRDเช่นเดียวกัน คือ เก่ง ดี มีสุข และพอเพียง แต่ทีมนำต้องเห็นด้วยและถือเป็นนโยบายอย่างที่ ผอ.วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยาได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า อาจารย์ให้ความสำคัญมากและอาจารย์ก็เป็นสมาชิกในครอบครัวด้วยเหมือนกัน อาจารย์บอกว่า ทุกคนอาจจะไม่ได้เข้าประชุมพร้อมหน้ากันทุกครั้ง เพราะในบริบทของครอบครัวเราก็ไม่สามารถอยู่พร้อมหน้ากันได้ทุกวัน เพียงแต่ว่าเราจะมีการสื่อสารกันอย่างไรให้เข้าใจกัน มีการใช้ Dialogue ,จิตตปัญญาศึกษา ในระบบครอบครัวเสมือนนี้ มีการแข่งขันกันทำความดีระหว่างครอบครัว เกิดจิตอาสาขึ้น 


สามวันที่เข้าประชุมได้อะไรดีๆเยอะ เกิดกิเลสอยากทำในกลุ่ม อสม.บ้างเหมือนกัน เพราะน่าจะเกิดประโยชน์ที่จะดึงศักยภาพของ อสม.ที่ซ่อนอยู่ได้แสดงออกมาบ้าง ทุกวันนี้มีเพียง One man show แต่...งานช้างเลยนะเจ้าคะ น่าจะมีตัวช่วยบ้างน้อ...


จะกลับบ้านยังพบความดีให้ชื่นใจอีกนะ แท็กซี่ที่มีคุณธรรม มีจิตใจที่ไม่เอาเปรียบผู้โดยสาร แล้วก็รักในหลวงเลยคุยกันถูกคอไปด้วยกัน เนี่ย...เลยทำให้เชื่อมั่นในทฤษฎีแรงดึงดูดของโลก (เกี่ยวกันป่ะนี่) ก็คนที่มีจริตคล้ายกันก็จะพบกัน ทำความดีไว้ก็จะพบคนดี (เข้าข้างตัวเองมากไปหรือเปล่า อิอิ) น่า...เชื่อตามหน่อยนะ ทำความดีทุกๆวันนะคะ เราจะได้เจอกัน ใครที่มีศีลเสมอกันก็ได้เจอกันไง....