วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

ตามนางเอกไปKM

15-16 กันยายน 53 มีโอกาสตามพี่ปุ้ยไปร่วมประชุมการสรุปบทเรียนโครงการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ที่เชียงราย ตอนแรก ผอ.ให้หัวหน้าฝ่ายแผนงานไป แต่เผอิญท่านไม่ว่าง ข้าเจ้าเลยมีโอกาสไปร่วมแจมกะเขาด้วย โชคดีมากก...เพราะได้พักโรงแรมหกดาวละมั้ง..แบบหรูเริ่ดสะแมนแตน นัยว่าคืนละ 5,000 บาท(แต่ปัจจุบันลดราคาแล้วเหลือ 1,800) ซึ่งถ้าไม่ได้มาประชุมอย่างนี้ไม่มีวาสนาได้มานอนตีพุงแน่ แต่ที่เริ่ดกว่านั้นคือได้ฟังอาจารย์โกมาตรบรรยาย วิเคราะห์ สังเคราะห์รูปแบบการนำเสนอที่พวกเราต่างพากันทำการบ้านอย่างเคร่งเครียด (เว่อร์ไปป่าวเนี่ย)
ก่อนอื่นคุณหมอทิฆัมพร จ่างจิต ผอ.รพ.พานมาเปิดประชุม ท่านพูดได้ดีมาก ว่าที่พวกเราทำกันอยู่ในงานปฐมภูมิจนกระทั่งออกมาเป็นเรื่องเล่านั้นต้องมีทั้งฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา หรืออิทธิบาทสี่นั่นเอง งานถึงออกมาได้ คือต้องมีความพอใจที่จะทำ มีความพากเพียรทำไปด้วยใจตั้งมั่น เอาใจใส่ สุดท้ายก็มีการใคร่ครวญถึงสิ่งที่กระทำไปว่าได้ผลดีหรือไม่อย่างไร เหมือนการทำ PDCA ที่ไม่ใช่ Please Don't Change Anything แบบบางคนอยากให้เป็น
หลังจากนั้นอาจารย์หมอโกมาตรก็พูดถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้อีกครั้ง เพราะอาจารย์บอกว่า คนที่มามีประเภทผลัดกันมาอยู่ด้วย ไม่เป็นขาประจำ ตามลักษณะนิสัยของสาธารณสุข ประมาณว่าเวียนกันให้ได้ออกจากที่ทำงานเท่าเทียมกัน เคยไปแล้วให้คนอื่นไปมั่ง อย่างนี้ก็มี
อาจารย์มีวิธีการบรรยาย สรุปการบรรยายที่ยอดเยี่ยม ได้ไอเดียที่เป็นประโยชน์ต่อแนวคิดการทำงานของเรามาก ไม่ง่วงเลย อาจารย์จะให้พวกเราพูดกันทุกคน อ่านแล้ววิเคราะห์สังเคราะห์ความรู้ที่ได้ออกมาตามความคิดของเรา ไม่มีถูกผิด แต่สามารถดึงเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ได้อย่างละเมียดละไม (ประมาณว่าเนียน...) แล้วก็ให้ฟังผู้อื่นพูด สรุปว่าได้ฟัง พูด อ่าน สุดท้ายก็เขียนส่งสองหน้ากระดาษ แน่นอนว่าทุกกระบวนการต้องคิดอยู่แล้ว เลยมีทั้ง สุ จิ ปุ ลิ
อาจารย์พูดถึง "กรณีศึกษา" ที่ให้ทุกคนเขียนเรื่องของตัวเองมา CUP ละ 3 เรื่อง พี่ปุ้ยเตรียมไป 2 เรื่อง PCUสารภีเตรียมไป 1 เรื่อง

ทำไมต้อง "กรณีศึกษา"
เพราะบริการปฐมภูมิเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ มีความสลับซับซ้อนไม่มีสูตรตายตัว ไม่สามารถลอกเลียนกันได้ต้องมาปรับใช้ตามบริบทของตนเอง แค่เป็นเครื่องมือที่จุดประกายความคิดแล้ว generate สิ่งใหม่ๆขึ้นในตัวเอง เป็นการสร้างฐานความรู้ไว้ให้ศึกษา สร้างผู้รู้ในระบบ primary care เรื่องต่างๆที่ทำด้วยตนเอง ตกผลึกด้วยตนเองและสามารถสอนผู้อื่นได้ เป้าหมาย case study ต้องมีอย่างน้อย 500 case

การจัดการความรู้กับ "กรณีศึกษา"
ใช้ปลาทูโมเดล ที่หัวปลาเป็น KV: Knowledge Vision คือต้องเสนอเรื่องอะไรที่ทำได้ดีหนึ่งเมนู จากนั้นท้องปลา KS: Knowledge Sharingคือเอาเมนูเด็ดมาโชว์หนึ่งจานประกอบด้วยอะไรบ้าง เครื่องปรุงที่ใส่ใช้อะไร อย่างไร แล้วถึงจะเป็นหางปลา KA: Knowledge Asset ที่กินแล้วอร่อย คนอยากจะเอาไปทำตาม อาจารย์บอกว่า KA = case study ที่ไม่หนา อ่านแล้วฉลาดขึ้น

อาจารย์ให้ลองเล่าให้คนในกลุ่มฟัง อาจารย์ก็แวะเวียนไปฟังแล้วคอมเม้นท์ โชคดีที่มานั่งฟังของPCU ด้วย เพราะอาจารย์คอมเม้นท์จนเราต้อง ...เออ จริงแฮะ... เรื่องของPCU มันมีเรื่องที่ซ่อนในเรื่องเล่าตั้งสี่เรื่อง ทำไมไม่ focus มาซักหนึ่งเรื่อง หรือเขียนมาสี่เรื่องไปเลย จับจุดเด่นของเรื่องให้ได้โดยมีเทคนิคดังนี้ แฮ่ม...

1. เล่าแบบ before&after ก่อนทำเป็นอย่างไรหลังทำมีอะไรที่แตกต่าง ข้อดีหรือผลดีที่ได้รับเกิดประโยชน์อะไรบ้าง
2.วิธีที่จะนำมาซึ่งเกิดผลนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือเกิดจากกิจกรรมที่เฉพาะเจาะจงอะไร
3.มีหลักฐานอะไรยืนยันว่าได้ผล
เน้นการถอดบทเรียนเชิงระบบ โดยดูว่ามีขั้นตอนของการทำ case study นั้นอย่างไร มีหลักการ หลักเกณฑ์ หรือระเบียบวิธีอะไร มีการประสานงานที่เชื่อมโยงกันหรือไม่ มีการติดตามว่าเป็นไปตามขั้นตอนหรือไม่อย่างไร สุดท้ายต้องสรุปให้ได้ว่า บทเรียนเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ......

ที่อาจารย์เน้นคือ ข้อมูลไม่อยู่ที่ตัวเราที่เดียว ดังนั้นใครเกี่ยวข้องบ้างกับเรื่องที่เราทำ ต้องไป KM โดยคุยกับทีมให้มากขึ้นว่า ทำไมคิดเรื่องนี้ขึ้นมา มีปัญหาอะไร วิธีการแก้ไขปัญหามีความแปลกใหม่ น่าสนใจ creative หรือเปล่า เห็นอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว "ถกไปสู่การพัฒนาระบบ" โดยดึงมิติเชิงระบบในกรณีศึกษาออกมาให้เห็น

ตัวช่วยการจัดการความรู้คือ แผนที่ความรู้ในองค์กร
- Mapping ผลงานเด่น ไม่ว่าจะเป็นโครงการ นวตกรรม ผลงานที่ได้รับรางวัล งานวิจัย เรื่องเล่า
- Mapping คนทำงาน ได้แก่ เจ้าของผลงานเด่น คนต้นแบบ คนมีทักษะเฉพาะ หรือเป็นวิทยากร
- Mapping ความรู้ โมเดลต่าง ๆ Best practices เครื่องมือการทำงาน ความรู้ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาสุขภาพท้องถิ่น เอกสาร หนังสือและสื่อต่าง ๆ

การบ้าน
นำแบบฟอร์มแผนที่ความรู้ไปทำต่อ
เลือกสามกรณีศึกษา
กำหนดคนเขียนหรือทีม
ชี้แจงกับผู้เขียนเคส
กรณีศึกษาความยาว 3-5 หน้า

ส่งก่อน 16 ตุลาคมเจ๊าาาา.....

ซ่อยหน่อยแหน้....




วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

APN ไว้เอ็นอย่างเดียวกา?!!

ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่สอบผ่านข้อเขียน Advanced Practice Nurse -APN (การปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง) และกำลังจะไปสอบปากเปล่า ถึงอย่างไรสอบข้อเขียนผ่านก็ได้รับเงิน พตส.2,000 บาทแล้ว ลองทบทวนว่าสมรรถนะของ APN ที่ต้องมี มีอะไรบ้าง

สมรรถนะ ที่ 1
มีความสามารถในการพัฒนาจัดการ และกำกับระบบ การดูแล กลุ่มเป้าหมายหรือ เฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะโรค(Care management)
สมรรถนะที่ 2
มีความสามารถในการดูแลกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มเฉพาะโรคที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อน (Direct Care)
สมรรถนะที่ 3
มีความสามารถในการประสานงาน (Collaboration) ระดับสหสาขา /คร่อมสายงาน
สมรรถนะที่ 4
มีความสามารถในการเสริมสร้างพลังอำนาจ (empowering) การสอน (educating) การฝึก (coaching) การเป็นพี่เลี้ยงในการปฏิบัติ(mentoring)
สมรรถนะที่ 5
มีความสามารถในการให้คำปรึกษาทางคลินิกในการดูแลผู้ป่วยหรือผู้ใช้บริการกลุ่มเป้าหมายที่ตนเองเชี่ยวชาญ(Consultation)
สมรรถนะที่ 6
มีความสามารถในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change agent)
สมรรถนะที่ 7
มีความสามารถในการให้เหตุผลทางจริยธรรม และ การตัดสินเชิงจริยธรรม (Ethical reasoning and ethical decision making
สมรรถนะที่ 8
มีความสามารถในการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-Based Practice
สมรรถนะที่ 9
มีความสามารถในการจัดการและประเมินผลลัพธ์ (Outcome management and evaluation)

เงินพตส.ก็ได้มากกว่าหัวหน้าน๊า...ทำงานตามสมรรถนะได้เต็มที่เลยพร้อมสนับสนุน ไม่ต้องเกรงใจ ให้ได้แม้ตำแหน่งหัวหน้า(เพราะกำลังจะขอไปอยู่ที่อื่น) อย่าให้ใครมาถามว่า "APN ไว้เอ็นอย่างเดียวกา?!" ให้กำลังใจ สู้ๆ ควรพัฒนาบทบาทและงานของตนเองให้มีความชัดเจนมากขึ้น จุดมุ่งหมายควรอยู่ที่ผลลัพธ์ของผู้ป่วยที่ดีขึ้น ไม่ใช่หวังเพียงตำแหน่ง APN เอาไว้"เอ็น" และเงิน พตส.ที่เพิ่มขึ้น ลองทบทวนตัวเองว่า สมรรถนะทั้งหลายแหล่ทำได้ขนาดไหน การจะให้คนอื่นยอมรับเราได้ ต้องทำงานเพื่อแสดงผลให้เกิดให้คนอื่นยอมรับ ว่ามีเราทำงานแล้วเกิดผลที่ดีและแตกต่างจากที่ไม่มีเรา ผลงานที่เกิดจากความคิดริเริ่มของตัวเราเองจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจต่อตำแหน่งที่เราได้รับและยืดอกได้สมศักดิ์ศรี อยากฝากให้ ว่าที่ APN สารภีทุกคนได้คิดค่ะ

โหลดเพลง