วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เหลียวมองรอบข้าง ส่องทางพัฒนา

24 ธันวาคม 2553
     โรงพยาบาลสารภีได้จัดงานเสวนา "เหลียวมองรอบข้าง ส่องทางพัฒนา" ที่โรงพยาบาลสารภีเพื่อสะท้อนมุมองจากสังคมที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลสารภี ความคาดหวังเพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการและบริบทของพื้นที่ โดยมีกิจกรรมการเสวนาจากตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ กรรมการพัฒนาโรงพยาบาล ผู้นำท้องถิ่น ผู้สูงอายุ ประชาชน เยาวชน อสม.และจิตอาสา ซึ่งดำเนินกิจกรรมในห้องประชุมโรงพยาบาลสารภี มีเรื่องเล่า "โรงพยาบาลสารภี" โดยตัวแทนชมรมจิตอาสา อปพร.และ อสม. แข่งขันการกล่าวปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง "ถ้าฉันเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลสารภี"
และประกวดวาดภาพในหัวข้อ "โรงพยาบาลสารภีในฝัน" มีนักเรียนเข้าร่วมประกวด 9 คน
ใช้สถานที่ที่ห้องประชุมศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลสารภี



คณะกรรมการประกอบด้วยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสารภี  คือ คุณเดือนเต็ม ตุ่นทรายคำ อาจารย์จากโรงเรียนชุมชนวัดปากกอง สารภี อาจารย์สุภัตรา บุญทวี และนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ น.ส.ธนัชชา  ไชยรินทร์ โดยมีเกณฑ์การให้คะแนน
ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 40 คะแนน องค์ประกอบศิลป์ 20 คะแนน เนื้อหาและเรื่องราวของภาพ 20 คะแนน และเทคนิควิธีการ 20 คะแนน



มีผู้ได้รับรางวัลที่ 1 ได้แก่ ด.ญ.ณัฐกฤตา  ใจมาก  ร.ร. วชิราลัย
           รางวัลที่ 2 ได้แก่ ด.ช. อดุลย์ ลุงคำ        ร.ร.ปากเหมือง
           รางวัลที่ 3 ได้แก่ ด.ญ. ดาริน นภาศิรพนา ร.ร.สืบนทีธรรม
           รางวัลชมเชย ได้แก่ ด.ช.วัชรพงษ์  เอื้ออาจิน ร.ร.เวฬุวัน
                                     ด.ญ.ญาณภา  วงศ์สกุลยานนท์ ร.ร.เวฬุวัน
    มีเรื่องราวที่สื่อจากภาพวาดของเด็กๆที่สะท้อนได้อีกอย่างถึงความรู้สึกต่อโรงพยาบาลที่เด็กๆอยากให้เป็นโรงพยาบาลในฝันของตนเองไม่ว่า การสร้างสีสันสดใสของสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม ตึกที่ทันสมัย การแต่งตัวของบุคลากรที่สะอาดเรียบร้อย สีหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสเต็มใจให้บริการ ตลอดถึงการมีเทคโนโลยีหรือพาหนะที่สร้างความรวดเร็วในการให้บริการ เช่น มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งกรรมการที่ตัดสินภาพได้เข้าใจความคิดของเด็กๆได้เป็นอย่างดีว่า ไม่ควรคิดว่าเด็กสร้างภาพไม่เป็นจริง หรือไม่สมจริง แต่ภาพบ่งบอกถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็กที่อยากให้เป็นเช่นเดียวกับ concept ว่า "โรงพยาบาลสารภีในฝัน" การตัดสินภาพของเด็กๆจึงทำให้กรรมการตัดสินใจยากเหมือนกันคะแนนจึงออกมาใกล้เคียงกัน ผู้ที่ได้รับรางวัลที่ด้อยกว่าหรือไม่ได้รับรางวัลก็ไม่ต้องน้อยใจนะคะ งานของทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง หากมีโอกาสที่โรงพยาบาลสารภีจัดงานประกวดอีก ก็มาประกวดกันใหม่นะคะ

          ขอบคุณนักเรียนทุกคนที่มาร่วมประกวด อาจารย์ที่นำส่งและมาให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด คณะกรรมการตัดสิน และผู้บริหารโรงพยาบาลสารภีทุกท่านค่ะ



วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ธรรมนูญสุขภาพตำบลท่าวังตาล

วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม 53  13.30 น.


             มีโอกาสได้ไปร่วมสังเกตการณ์การดำเนินการจัดทำสมัชชาสุขภาพเพื่อนำไปสู่ธรรมนูญสุขภาพของตำบลท่าวังตาลมีเจ้าอาวาสวัดบวกครกเหนือเป็นเจ้าภาพ ได้ยินว่ามีการพูดคุยกันเรื่องวิทยุชุมชนกันมาตั้งแต่ภาคเช้าแล้ว บ่ายเลยเข้าร่วมสมัชชาสุขภาพต่อ มีหลายภาคส่วนของตำบลเช่น ดีเจวิทยุชุมชน ประธาน อสม. อสม.องค์กรส่วนท้องถิ่น กลุ่มต่างๆหลายกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มที่จัดตั้งเพื่อสวัสดิการของสังคมท่าวังตาล (ต้องขออภัยที่เอ่ยนามมาไม่หมด) แต่ก็คุ้นหน้าคุ้นตาดี  นอกจากส่วนของสังคมแล้วก็มีส่วนของหน่วยงานรัฐ ได้แก่ หน่วยงานด้านสุขภาพ(แน่นอนค่ะ...เพราะงานนี้เป็นเรื่องสุขภาพนี่คะ) มีคุณหมอจรัส สิงห์แก้ว ผอก.โรงพยาบาลสารภีเป็นหลัก คุณนภาพร มูลมั่ง สาธารณสุขอำเภอสารภี คุณสุภาพ ผอก.รพสต.ท่าวังตาล และที่ขาดไม่ได้คือ ส่วนของวิชาการ งานนี้มาเพียบเลยค่ะ ทั้งอาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพายัพ วพบ.พระบรมราชชนนีเชียงใหม่ ที่สำคัญคือ ดร.วันทนีย์ ชวพงษ์ และอาจารย์สุทธิพงษ์ วสุโสภาผล ที่เป็น Moderator โดยอาจารย์สุทธิพงษ์ ได้กรุณาเลคเช่อร์เกี่ยวกับสมัชชาสุขภาพ เครื่องมือสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ข้าเจ้าก็นั่งฟังอย่างตั้งอกตั้งใจเพราะเป็นเรื่องใหม่ของพยาบาล ปกติข้าเจ้าไม่ค่อยอยากฟังอะไรที่ยากๆหรอกค่ะ แถมไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับพยาบาลเท่าไหร่ แต่ตอนนี้ต้องมานั่งเรียนรู้ไปกับชุมชน เลยเกิดความรู้สึกว่า โลกนี้ช่างกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งนัก เราเป็นเพียงตัวตนเล็กๆที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของโลกเท่านั้นเอง ยิ่งค้นหายิ่งน่าสนใจ ที่สำคัญช่วยลดอัตตาตนเองที่คิดว่าเราเป็นคุณแม่รู้ดีได้เป็นอย่างดี เพราะชุมชนเขารู้ตัวของเขาเองได้ดียิ่งกว่า 
            วกกลับมาเรื่องสมัชชาดีกว่านะคะ หลังจากที่อาจารย์สุทธิพงษ์ได้บรรยาย ก็มาdiscuss กันว่าจะเริ่มต้นอย่างไร อาจารย์บอกว่า ตำบลมีทุนเดิมของตนเองเพียงแต่ต้องการการเชื่อมโยงและขยายผลเรียกว่าเป็นแก่น มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด โดยมีหน่วยงานต่างๆที่สนับสนุนอยู่วงนอก ระบบนโยบายสาธารณะของท่าวังตาลเริ่มต้นมาจากสวัสดิการของชุมชน ที่เป็น normal interest ที่คนท่าวังตาลเห็นพ้องต้องกันว่า "เอาโตย" มีการเปลี่ยนแปลงฐานคิดของชุมชนที่หมุนไปเรื่อยๆ มีการพูดคุยกันเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการสอบทวนแล้วนำไปปฏิบัติโดยตัวชุมชนเองเป็นผู้กำหนดทิศทางว่าจะไปทางไหน จึงจะเป็นนโยบายของสาธารณะ ไม่ใช่นโยบายเพื่อสาธารณะที่จัดทำโดยรัฐ สรุปคร่าวๆตามผังดังนี้ (คุณรุ่ง สุริยาเป็นคนสรุปค่ะ มิใช่ข้าเจ้า อิอิ)



             จากที่ discuss กัน เปิดใจพูดกันเรื่องแรงบันดาลใจที่จะทำนโยบายสาธารณะทั้งของ ผอ.โรงพยาบาลสารภี ทั้งอสม. ที่มีแนวคิดและความต้องการด้านสุขภาพเพื่อจูนคลื่นให้ตรงกัน เช่น ข้อมูลคืนกลับสู่ชุมชน เพื่อสร้างความตระหนกและตระหนัก อาจารย์สุทธิพงษ์ได้เสนอว่า น่าจะพูดจุดประเด็นให้กระแทกใจเพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นจุดหักมุม  แล้วจะมีการขับเคลื่อนเพื่อให้มีข้อตกลงสาธารณะเพื่อสุขภาพได้อย่างไร ผอ.โรงพยาบาลสารภีได้เสนอว่า แต่ละตำบลของอำเภอสารภีได้มีประสบการณ์ทำธรรมนูญสุขภาพมาบ้างแล้ว เช่น ตำบลดอนแก้ว ขัวมุง ฯ และมองว่าทั้ง 12 ตำบล สามารถทำได้เกิน 80% น่าจะจัดทำทั้งอำเภอเพราะท่านต้องดูแลสุขภาพทั้งอำเภออยู่แล้ว ไปๆมาๆผอ.โรงพยาบาลสารภีขยับจากการทำธรรมนูญสุขภาพของตำบลขยายไปทั้งอำเภอแล้วเจ้าค่ะ...
            อาจารย์สุทธิพงษ์ได้สรุปว่า สิ่งที่ต้องมีเบื้องต้นก็คือ
  1. มีเรื่องเล่าเร้าพลัง
  2. เชื่อมโยงกลไก คน เงิน งาน ประเด็น
  3. มีข้อตกลงสาธารณะเพื่อสุขภาพร่วมกันทุกตำบล
  4. ต้องมีกระบวนการร่วม (ออกแบบที่ดี) ทำซ้ำๆ
              ผอ.โรงพยาบาลสารภีได้เสนอใช้วัดบวกครกเหนือเป็นสถานที่หลักในการประชุม พูดจาปรีกษาหารือ ส่วนแกนนำค่อยขยายเพิ่มว่าจะมีใครเข้ามาช่วยโดยสมัครใจ
วิชาการ: แกนหลักเป็นคณะพยาบาลศาสตร์ มช. แกนร่วมคือ  มหาวิทยาลัยพายัพ วพบ.พระบรมราชชนนีเชียงใหม่ และอื่นๆ
หน่วยงานภาครัฐ : รพ. สสอ.  อปท.ในตำบล 
ภาคประชาสังคม : อสม. ผู้นำชุมชน ผู้สูงอายุ ฯลฯ
   ผอ.โรงพยาบาลสารภีรับเป็นสำนักเลขาฯ ในระยะแรก มี ดร.ฐาวรี เป็นผู้ดำเนินการในตำแหน่งเลขาฯ (งานเข้าแล้ว น้องอ้วน...ได้บุญนะคะ ทำไปเถอะน้าาา) ออกแบบทำให้เกิดกระบวนการคุยกันและได้คิดกันไปเรื่อยๆ มีการสะสม แล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไรค่อยประเมินนะคะ ให้สุกงอมด้วยตัวมันเอง ต่อยอดไปเรื่อยๆ
      กำหนดคุยกันครั้งแรกที่วัดบวกครกเหนือวันเสาร์ที่ 29  มกราคม 2554 เวลา 9.00 น. ไปเรื่อยๆ เพื่อการพูดอย่างปราณีต เจ้าอาวาสจะเลี้ยงขนมจีน ผอ.จรัสจะร่วมเป็นเจ้าภาพด้วยคร้า... ท่านอ้วนเจ้าอาวาสจะออกหนังสือเชิญ "แก๋นอื่น" ให้นะคะ โดยมีเนื้อหา มี story telling สัก 3 เรื่อง (อสม.ปริม : เศร้า กินใจ, เคียดแค้นชิงชัง,ตื่นเต้น ) มีการนำเสนอผลการศึกษาที่ทำมาแล้ว ทุนทางสังคม หรือให้ตำบลที่มีนโยบายสาธารณะมาแล้วให้มาเล่าเรื่อง แล้วสุดท้ายยกระดับให้เป็นข้อตกลง จะทำอะไรต่อ อย่างไร
     
      แล้วพบกันนะคะ.....อย่าลืมติดตาม  งานนี้มีลุ้น!!!!!!





                                              

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ตลาดนัดความดี




ต้นเดือนที่ผ่านมามีโอกาสไปประชุมวิชาการเรื่อง “ตลาดนัดความดีสู่จิตบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ภายใต้นวัตกรรมระบบครอบครัวเสมือน”  เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2553 จัดโดยแก้วกัลยาสิกขาลัย สถาบันพระบรมราชชนก วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี งานนี้เป็นการนำเสนอผลงานของน้องนักศึกษาพยาบาล 5 สถาบันในสังกัดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ในการใช้ระบบครอบครัวเสมือนในวิทยาลัยที่ประกอบด้วยทั้งบุคลากรในวิทยาลัย อาจารย์และนักศึกษาที่เป็นการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมให้นักศึกษาพยาบาล  โดยจะเน้นการจัดการศึกษาแบบบูรณาการระหว่างวิชาการ กิจกรรมพัฒนา ให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณสมบัติ เก่ง ดี มีความสุข ในปีงบประมาณ 2554 นี้ได้นำร่องการสอนนักศึกษาพยาบาลในวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี 5 แห่งได้แก่ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีขอนแก่น วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีจักรีรัช ราชบุรี วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีชลบุรี วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยา และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครศรีธรรมราช เนื่องจากพยาบาลถือว่าเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้ใช้บริการมากกว่าบุคลากรอื่นๆ โดยนำระบบครอบครัวเสมือนมาใช้ ให้นักศึกษาทุกคนดูแลผู้ให้บริการเปรียบเสมือนว่าเป็นญาติใกล้ชิดหรือเป็นคน ครอบครัวเดียวกับนักศึกษา ซึ่งจะทำให้เกิดสายใยแห่งความเอื้ออาทรขึ้นในจิตใจ และพฤติกรรมที่แสดงออก เพื่อให้ผู้รับบริการพึงพอใจ และได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ซึ่งจะเริ่มฝึกนักศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 - 4 มีการขยายผลลงสู่ อสม.ด้วย


โดยหลักการก็คิดว่า ดีเหมือนกันนะ หากจะนำมาปรับใช้ในโรงพยาบาลบ้าง อย่างน้อยก็มีตัวชี้วัดของทีม HRDเช่นเดียวกัน คือ เก่ง ดี มีสุข และพอเพียง แต่ทีมนำต้องเห็นด้วยและถือเป็นนโยบายอย่างที่ ผอ.วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพะเยาได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า อาจารย์ให้ความสำคัญมากและอาจารย์ก็เป็นสมาชิกในครอบครัวด้วยเหมือนกัน อาจารย์บอกว่า ทุกคนอาจจะไม่ได้เข้าประชุมพร้อมหน้ากันทุกครั้ง เพราะในบริบทของครอบครัวเราก็ไม่สามารถอยู่พร้อมหน้ากันได้ทุกวัน เพียงแต่ว่าเราจะมีการสื่อสารกันอย่างไรให้เข้าใจกัน มีการใช้ Dialogue ,จิตตปัญญาศึกษา ในระบบครอบครัวเสมือนนี้ มีการแข่งขันกันทำความดีระหว่างครอบครัว เกิดจิตอาสาขึ้น 


สามวันที่เข้าประชุมได้อะไรดีๆเยอะ เกิดกิเลสอยากทำในกลุ่ม อสม.บ้างเหมือนกัน เพราะน่าจะเกิดประโยชน์ที่จะดึงศักยภาพของ อสม.ที่ซ่อนอยู่ได้แสดงออกมาบ้าง ทุกวันนี้มีเพียง One man show แต่...งานช้างเลยนะเจ้าคะ น่าจะมีตัวช่วยบ้างน้อ...


จะกลับบ้านยังพบความดีให้ชื่นใจอีกนะ แท็กซี่ที่มีคุณธรรม มีจิตใจที่ไม่เอาเปรียบผู้โดยสาร แล้วก็รักในหลวงเลยคุยกันถูกคอไปด้วยกัน เนี่ย...เลยทำให้เชื่อมั่นในทฤษฎีแรงดึงดูดของโลก (เกี่ยวกันป่ะนี่) ก็คนที่มีจริตคล้ายกันก็จะพบกัน ทำความดีไว้ก็จะพบคนดี (เข้าข้างตัวเองมากไปหรือเปล่า อิอิ) น่า...เชื่อตามหน่อยนะ ทำความดีทุกๆวันนะคะ เราจะได้เจอกัน ใครที่มีศีลเสมอกันก็ได้เจอกันไง....

วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วงเวียนชีวิต(ยิ่งกว่าละคร)

PCU สารภีได้ให้การดูแลผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงที่มีโรคเบาหวานแทรกรายหนึ่งที่มีปัญหาในการรับยาไม่ต่อเนื่องและไม่มาตรวจตามนัด จึงได้ติดตามเยี่ยมบ้านพบผู้ป่วยอยู่เพียงลำพังในเวลากลางวันที่ชั้นล่าง บ้าน 2 ชั้น จึงได้ให้การพยาบาลและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและญาติ ผ่านไประยะหนึ่งญาติผู้ป่วยได้มาร้องขอให้เจ้าหน้าที่ไปดูป้าให้หน่อยนะ "หมอครับๆ จ้วยไปดูป้าหื้อผมกำลอ เป๋นบ่หลับ บ่นอน หุยอยู่ฮั้นเนาะ" ตอนบ่ายวันนั้นทีมPCUสารภีก็ได้ไปเยี่ยมบ้าน ก้าวแรกที่ได้เข้าไปก็ต้องพบกับสภาพผู้ป่วยที่นอนอยู่บนแหย่ง พร้อมกลิ่นไม่พึงประสงค์ มีจานอาหารเก่าๆ มีตะกร้าใส่ยา ของใช้จำเป็นและถังใส่ปัสสาวะวางอยู่ใกล้ๆ จึงให้ญาตินำถังใส่ปัสสาวะไปทิ้งทำความสะอาด และได้ช่วยกันจัดการเก็บกวาด เช็ดถูทำความสะอาดบริเวณบ้านให้สะอาด ซักเสื้อผ้า,ผ้าห่ม ผึ่งแดดให้เรียบร้อย จากการตรวจร่างกายพบว่าไม่พบสิ่งปกติ แต่สภาพจิตใจต้องดูแลเป็นพิเศษ ในขณะที่เราช่วยกันทำความสะอาด บริเวณที่อยู่ของผู้ป่วยอยู่นั้นพบชายวัยรุ่นผู้หนึ่งนั่งเล่นเกมส์อยู่ในห้อง ก่อนกลับเราได้เชิญเขาออกมาให้คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วย การรับประทานยา การดูแลความสะอาดทั่วไป จากข้อมูลที่ได้รับจากญาติทราบว่าผู้ป่วยเป็นลูกสาวคนโตไปทำงานที่กรุงเทพตั้งแต่สาวๆ ไม่ได้เหลียวแลทางบ้านที่มีพ่อแม่และน้องๆอีก 3 คนทิ้งให้พวกเขาลำบาก หลานๆก็ได้รับข้อมูลแบบนี้ น้องสาวคนเล็กที่ผู้ป่วยมาอาศัยอยู่ด้วยหลังกลับมาจากกรุงเทพเมื่อ10กว่าปีก่อนก็ดูแลแค่ให้ที่อยู่ที่กิน อ้างภาระรับผิดชอบมีมากมาย ต้องเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานและต้องดูแลสามีที่ป่วยออดๆแอดๆอีก น้องคนนี้ไม่พอใจที่พี่สาวทอดทิ้งไป ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือพวกเขากับครอบครัวเลยแล้วจะให้พวกเขามาดูแลผู้ป่วยได้อย่างไร หลังจากได้รับข้อมูลครั้งแรกทางทีมงานก็ได้มาปรึกษากันว่าเราจะมีวิธีใดที่จะให้น้องสาว หลาน เหลนของผู้ป่วยเต็มใจ พร้อมที่จะให้การดูแลผู้ป่วย ซึ่งปัญหาของผู้ป่วยขณะนี้คือผู้ป่วยต้องการให้ญาติมาดูแลใกล้ชิด เรียกร้องความสนใจ ทางทีมPCUได้หาข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ป่วย,เพื่อนบ้าน,อสมที่ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยในด้านอาหาร การกิน เป็นธุระในการติดต่อขอเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้ ก็ได้รับข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่าผุ้ป่วยไปทำงานที่กรุงเทพโดยไปเป็นลูกจ้างร้านทำอาหารมีรายได้เดือนละไม่กี่ร้อยบาท แต่งงานแล้วแต่ไม่มีลูกจึงได้เลิกรากันไป หลังเลิกกับสามีคนแรกก็แต่งงานกับสามีคนที่ 2แต่ก็ไม่มีลูกก็ได้เลิกรากันไปอีก ผู้ป่วยบอกว่า"เฮามีลูกหื้อเปิ้นบ่ได้ ก่หื้อเปิ้นไปแต่งงานใหม่เต๊อะ เอ็นดูเปิ้นไค่ได้ลูก" รายได้ไม่กี่ร้อยบาทนี้ผู้ป่วยได้ให้การช่วยเหลือหลานชาย 2 คน(ลูกของน้องสาว)ที่ไปเรียนที่กรุงเทพ ทุกๆเดือนเหลือเงินเก็บไว้บ้าง ตอนนี้หลานชายทำงานเป็นผู้จัดการร้านสรรพสินค้า มีรายได้เดือนละเป็นแสน ส่งลูกเรียนโรงเรียนฝรั่ง ผู้ป่วยกลับมาอยู่เชียงใหม่ได้ 10กว่าปี ได้รับมรดกเป็นที่ดิน 1ผืน ตอนนี้ก็ได้ยกให้น้องสาวคนเล็กที่ได้อาศัยในขณะนี้ หว้งจะฝากผีฝากไข้ รายได้ที่ได้รับก็แค่เดือนละ 500 บ้านไว้แค่พอซื้ออาหารประทังชีวิต หลานชายได้ส่งเงินมาให้อีกเดือนละ 1,000บาท(แต่น้องสาวเก็บไว้หมด) อสม.ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าญาติที่อยู่บ้านใกล้ๆกันได้ช่วยเหลือด้านอาหารให้กับผู้ป่วย โดยที่น้องสาวไม่เคยถามเลยว่าค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารหมดไปเท่าไร อสม.ก็บอกว่าเขาทำเพราะว่าสงสารผู้ป่วยไม่มีใครดูแลเท่าที่ควร จากข้อมูลที่ได้ยังทราบว่าน้องสาวผู้ป่วยเป็นคนรักแรงเกลียดแรง แม้กระทั่งสามีเขาได้ทำเรื่องผิดพลาดในอดีตก็ยังไม่ยอมให้อภัย


น้องเคเอาเสื้อผ้า,ผ้าห่มไปซัก
Mental support

กวาดบ้าน,ถูบ้านให้สะอาด
หลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยอีกครั้งก็ได้พบว่าสภาพสิ่งแวดล้อมสะอาดขึ้น กลิ่นไม่พึงประสงค์ลดลง  หลานชายไปค้าขายต่างอำเภอ น้องสาวขายของหน้าปากซอย ทีมงานได้ให้การดูแลและMental support ผู้ป่วยและน้องสาว รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่าหลานชายที่อยู่บ้านอีกหลังหนึ่งกับหลานสะใภ้และลูกสาว เปิดบ้านเป็นร้านเสริมสวย ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยเลย(ผู้ป่วยกับหลานสะใภ้เคยมีปัญหาทะเลาะกัน)ทีมPCUได้ไปติดตามเยี่ยมผู้ป่วยหลายครั้งแล้วหลานสะใภ้ไม่เคยมาทักทาย ให้การต้อนรับเลย เจอแต่น้องสาวผู้ป่วยที่ปลีกตัวจากการขายของมาต้อนรับที่บ้าน หลานชายได้ช่วยดูแลเรื่องความสะอาด เรื่องอาหารให้แกผู้ปวย ก่อนออกไปทำงาน หลังจากให้การดูแลแล้วทางทีมงานก็ได้นำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาวิเคราะห์หาสาเหตุ ปํญหาที่แท้จริงของผู้ป่วยและได้ร่วมมือกันช่วยกันแก้ปํญหาทั้งครอบครัว ญาติยอมรับผู้ป่วยมากขึ้นช่วยกันดูแลผู้ปวยจนมีสภาพจิตในที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สภาพที่อยู่อาศัยสะอาดขึ้น ในการติดตามเยี่ยมครั้งล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 27 ตุลาคมนี้พบผู้ป่วยนั่งอยู่บนเตียง ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส พูดคุยสนุกสนาน ดีใจที่เห็นทีมPCU ไปเยี่ยมที่บ้าน เราได้มอบถังน้ำมีฝาปิดสำหรับใส่ปัสสาวะ มอบเก้าอี้สุขภัณฑ์สำหรับนั่งถ่ายให้แก่ผู้ป่วย
กำลังช่วยกันประกอบเก้าอี้สุขภัณฑ์
มอบถังน้ำมีฝาปิดและเก้าอี้สุขภัณฑ์

จากการเยี่ยมครอบครัวนี้ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย การจะมองปัญหาผู้ป่วยไม่ควรมองปัญหาเพียงด้านเดียวควรมองอย่างครอบคลุมทั้งกาย จิต สังคม จิตวิญญาน มองอย่างลึกซึ้งแล้วจะมองเห็นปัญญหาที่แท้จริง ทำให้แก้ปัญญหาที่ถูกจุด ผู้ป่วยและญาติสุขกาย สบายใจ ทีมPCUสารภีมีความสุขใจที่ได้ทำงานอย่างทุ่มเท ผลลัพธ์ที่ได้คุ้มค่ามากๆ

                                                                                                           หมอต้อย

วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553

อะไรก็เกิดขึ้นได้เมื่อญาติสิ้นหวัง

เมื่อวันที่15ตุลาคม2553 อสมหมู่4ได้มาบอกทางศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลสารภีว่า หมอติ๊กๆบ่าเดียวนี้น่าญาติปี้น้องป้อสม อินทร์หล้า อยู่หน้าโฮงบาลเฮานิ เอาตุ๊เจ้ามาฟังธรรมเพี้ยวบ้านเพี้ยวจองกั๋นหมด หมอลองไปดูกำเตอะ ทีมเยี่ยมบ้านของ ศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลสารภีนำโดยหัวหน้าติ๊กและลูกน้องทั้งสามไม่รอช้าได้ออกไปหาป้อสมทันทีสภาพป้อสมนอนไม่ลืมหูลืมตาอยู่บนเตียงไม่พูดไม่โต้ตอบเรียกชื่อคนไข้อยู่นานๆป้อสมๆๆลืมตาดูไม่พูดอะไรไข้สูง ความดันสูงอ่อนเพลียไม่ทานอาหาร หัวหน้าติ๊กให้การพยาบาลทันทีและได้พูดคุยกับญาติให้กำลังใจญาติและป้อสม
วันที่18ตุลาคม53ได้ติดตามเยี่ยมอีกครั้งป้อสมอาการดีขึ้นเริ่มทานอาหารได้บ้างโดยอสมหมู่4ช่วยป้อนข้าวเพราะลูกๆป้อสมออกไปทำงานทิ้งป้อสมกับแม่ล้อมไว้บ้านแม่ล้อมลำพังช่วยเหลือตัวเองได้ก็แย่อยู่แล้วต้องใช้ไม้ค้ำยันพยุงตัวเองญาติดีใจมากป้อสมอาการดีขึ้นลุกจากเตียงได้ทานข้าวได้เอง
ชีวิตคนเราอะไรก็เกิดขึ้นได้เพียงเสี้ยววินาที ความรู้สึกตอนนั้นดูสิ้นหวังจริงๆนะจะบอกให้เราที่ไม่ใช่ญาติยังรู้สึกได้เลย หลังจากติดตามเยี่ยมซ้ำล่าสุด 27ตุลาคม53 เห็นป้อสมมีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสเดินได้ทานอาหารได้เองเดินออกไปนอกบ้านได้แล้วรู้สึกดีใจที่ได้ช่วยให้ป้อสมใช้ชีวิตปกติอีกครั้ง
แบ่งปันพี่น้องชาวสารภีหมอน้อย(จาวบ้านเรียกขาน)

วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

หรือว่าที่เราทำเขาเรียกว่า "การวิจัยชุมชน"....

20-22 ตค.มีโอกาสไปประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การพัฒนาทักษะด้านการวิจัยชุมชนสำหรับนักวิชาการ : พื้นที่ภาคเหนือ" สนับสนุนโดย สสส. สวพ.ศวช.มีอาจารย์จาก มช. มข.มาเป็นพี่เลี้ยง ได้หนังสือมา 4-5 เล่มโตๆหนาระเบิดระเบ้อ...เอามาหนุนหัวนอนให้มัน absorbed ไปก่อน 2 วัน ก่อนเอามานั่งพิจารณา ไปๆมาๆงานวิจัยชุมชนนี่ก็คล้ายกับการทำแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์เหมือนกัน สิ่งที่พวกเราท๊ำทำกันนี่ มันก็แล้วแต่ใครจะเรียก ชิมิ ที่แน่ๆคือมีการบ้านให้ทำจนกระทั่งถึงการลงโครงการ

เริ่มจากทำปฏิบัติการที่ 1 ถอดบทเรียนของกลุ่ม/แหล่งปฏิบัติการ ซึ่งในชุมชนของเราจะมีหลายกลุ่ม/แหล่งปฏิบัติการที่เราจะต้องมาถอดบทเรียนทีละกลุ่มด้วยการลำดับที่มาและเส้นทางการพัฒนาของกลุ่ม/แหล่งปฏิบัติการตลอดถึงทุนทางสังคมที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งตัวนี้ในแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ก็คือ ภาคีเครือข่ายที่เราต้องมาวิเคราะห์ว่าจะช่วยเหลือกลุ่มเราได้อย่างไร หลังจากนั้นก็วิเคราะห์โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและทางสังคม ซึ่งก็คือ รากฐานในแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ ส่วนงาน/กิจกรรมและเป้าหมายของกลุ่มที่เรานั่งวิเคราะห์เอาเป็นเอาตายก็เข้าได้กับกระบวนการของแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ โอย....OMG ที่เราอุตส่าห์กระดี๊กระด๊ามานี่ มันเป็นสิ่งที่เราทำโดยไม่รู้ตัวหรือว่า คืองานวิจัยชุมชน จากนั้นก็นั่งวิเคราะห์การจัดการกลุ่ม (งาน คน ข้อมูล ทรัพยากร/เงิน/กองทุน)ที่เป็นรูปธรรมบทบาทหน้าที่ของแกนนำ/สมาชิกและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ตลอดถึงความเชื่อมโยงของกิจกรรมกลุ่มที่โยงไปกลุ่มอื่นๆได้อย่างไรและจะดูผลผลิต/ผลลัพธ์ ปัจจัยเงื่อนไขความสำเร็จของกลุ่ม/แหล่งปฏิบัติการได้อย่างไร หลังจากนั้นก็ออกแบบกระบวนการพัฒนาแหล่งเรียนรู้จนกระทั่งออกมาเป็นโครงการ

อาจารย์ให้การบ้านมาทำต่อ งบให้นิโหน่ย...ไปขอจากที่อื่นด้วย(เอาเอง) มี.ค.54 จะมีการนำเหนอและประชันความงามโครงการกันที่ กทม....เฮ้อ..จะทำอยู่มั้ยเนี่ย งานก้อเยอะนะคะ ท่าจะขอบายบายเน้อเจ้า

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

แขวนคำตัดสินดีไหม....

วันนี้เป็นวันคลินิกความดันโลหิตสูง คนไข้พากันมานั่งรอแต่เช้า บางคนก็เร่งเร้าอยู่ในทีเพราะไปวัดแล้วมาแวะยังไม่ได้กินข้าวเช้า รับยาเสร็จก็จะกลับบ้าน แล้ววันนี้ก็ไม่รู้เป็นอะไรที่มีเรื่องจุกจิกในใจเล็กน้อยที่รู้สึกว่าใจขุ่น แต่ก็ยังมีสติพอที่จะไม่ลงที่คนไข้เลย นั่งตรวจไปสักครู่ก็มีหญิงชราท่าทางสบายๆไม่วิตกทุกข์ร้อนอันใด แต่ความดันโลหิตสูงปรี๊ด "คุณยายความดันสูงอีกแล้วนะคะ 190/100 แน่ะ แล้วก็สูงมาหลายครั้งแล้ว.." ฉันพูดแบบต่อว่ากลายๆ "ยายก็ไม่ได้เป็นอะไรนี่หมอ" คุณยายพูด ความจริงคุณยายก็รู้ว่าฉันเป็นพยาบาล แต่ก็เรียกว่าหมอตามประสาคนท้องถิ่นนี้ที่เรียกคนทำงานในโรงพยาบาลว่า หมอ "คุณยายเครียดอะไรมั้ยคะ" ฉันเริ่มสอบสวน "ไม่มีอะไรที่ต้องเครียดนี่นา " "นอนหลับดีมั้ย" หลับสบายทุกวัน" เอาละซีฉันเริ่มปวดหัว "กินเค็มหรือเปล่า.." "ไม่มี้.." คุณยายปฏิเสธเสียงแข็ง "งั้นหนูส่งตัวคุณยายไปให้ข้างบน..(หมายถึงงาน NCD ของโรงพยาบาล) ดีไหมคะ " "ยายไม่ไปหรอก ขี้เกียจรอนาน เสียเวลา มานี่แหละเร็วดี" คุณยายยังคงดื้อแพ่ง "คุณยายกินยายังไงคะ" "ก็กินเม็ดสีโอโรสครึ่งเม็ด สีเหลืองหนึ่งเม็ด สีขาวไม่กิน กินแล้วคันไปทั้งตัว ไม่ได้หลับไม่ได้นอน" เอาอีกแล้ว ฉันคิด ...กินยาตามใจตัวเองอีกแล้ว จะทำยังไงดีละนี่ โทรฯ consult คุณหมอ OPD แล้วกัน เพราะคุณยายยืนยันว่าไม่ไปตรวจกับ OPD หรือ NCD ของโรงพยาบาล คุณหมอก็กรุณาให้คำแนะนำพร้อมทั้งปรับเปลี่ยนยาให้ พอเอายาให้คนไข้ดูแกก็บอกว่า ยานี่ไม่กินเคยกินแล้วไม่ดี ยานี้กินอยู่ยายังพอมี ชักปวดหัวมากขึ้นอีก คนไข้อื่นๆก็รออยู่เลยบอกคุณยายว่า งั้่นยังไม่ให้ยาละนะ บ่ายนี้จะไปเยี่ยมบ้านดูว่าที่บ้านมียาอะไรบ้าง คุณยายก็ตกลง

บ่ายแก่ๆก็พากันไปสองคนพี่น้อย เตรียมตะกร้าเยี่ยมบ้านทั้ง Family folder ทั้งยาของคุณยายที่เผื่อยาความดันตัวอื่นไปด้วย เครื่องวัดความดัน แถมเซ็ททำแผลเผื่อคนแถวบ้านคุณยายจะมีแผลให้ทำ บ้านคุณยายหาไม่ยาก ปรากฎว่า เป็นหม้ายอยู่บ้านคนเดียว ลูกไปทำงานที่อื่น อาทิตย์หนึ่งก็กลับมาหาที แต่ไม่ได้มีฐานะยากจนเลย มีหลานชายและหลานสะใภ้ของสามีแกอาศัยอยู่บ้านใกล้กัน ไปมาหาสู่กันได้ วัดความดันโลหิตซ้ำ คราวนี้ได้ 150/80 มม.ปรอท ซักประวัติผังเครือญาติ ปรากฎว่า ลูกชายสี่คนตายด้วยสาเหตุดื่มเหล้ากันทุกคน เหลือแต่ลูกผู้หญิงที่ออกเรือนไปอยู่ที่อื่น หลานชายและหลานสะใภ้ของสามีแกก็กินเหล้าทุกวันเหมือนกัน ทั้งๆที่หลานสะใภ้เป็นโรคหลอดเลือดสมอง แขนขาซีกซ้ายอ่อนแรงเพิ่งจะพอช่วยเหลือตัวเองได้ และทั้งคุณยาย หลานชายและหลานสะใภ้สูบบุหรี่ขี้โยกันทุกคน คุณยายเอายามาให้ดูพบว่า ที่ไม่กินคือ Amlodipine 5 mg ที่ทานอยู่ก็มี HCTZ , Atenolol(100)  เลยเพิ่ม Enalapril (5) ตามที่คุณหมอสั่งให้ คุณยายชอบกินอาหารที่ใส่ผงชูรสมาก บอกว่าต้องใส่ทุกมื้อ ทุกเมนู แถมบอกว่า "ซื้อไว้ใช้กระปุกเท่านี้..."แกทำมือขนาดลูกมะพร้าวอ่อน คิดดูละกันว่าแกจะกินสักเท่าไหร่  แกบอกว่า อยู่ที่บ้านความดันแกดีอยู่ไม่สูงมาก เลยถามว่าที่สูงน่ะคิดว่าเพราะอะไร แกบอกว่า "ท่าจะเดินไปหาหมอละมั้ง...." อ้าว แล้วก็ไม่บอก แกก็ว่า ก็หมอไม่ได้ถาม เอากะแกซี "หนูขอโทษแล้วกันนะคุณยายที่ไม่ได้ถาม เอางี้ ก่อนไปหาหมอให้ อสม.วัดความดันให้ก่อนนะ แล้วค่อยไปเปรียบเทียบกับที่โน่น แต่ยังไงก็อยากให้สูบขี้โยลดลงด้วย แล้วก็ผงชูรสด้วยนะ แล้วถ้าไปเอายาก็ขอใครเขาไปส่งนะ อย่าเดินไปเอง มันไกลอยู่เหมือนกัน..." ฉันฝากฝังให้หลานสาวแกช่วยดูแลสองเรื่องนี้ให้ " แล้วจะมาเยี่ยมใหม่นะคะ.."

ถ้าไม่ได้เยี่ยมบ้าน เราจะรู้มั้ยเนี่ยว่า แกต้องเดินไปเอายา แล้วต้องรีบเดินกลับไปดูแลบ้าน เพราะไม่มีใครเฝ้าบ้าน เราจะรู้มั้ยว่า แกสูบขี้โยเท่าไหร่ กินผงชูรสเท่าไหร่ มีคนมีพฤติกรรมแบบนี้เป็นเพื่อนแกอยู่ใกล้ๆ เลยไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง เราก็จะมองแค่ตัวเลขให้ยาตามตัวเลข พอไม่ได้ผลก็ตราหน้าแกว่า

Non-compliance patient

วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

SARAPEE CHANGE

จากแนวคิดของ ผอก.รพ.ที่นำมาจากกระแสความคิดเปลี่ยนแปลงประเทศไทย หรือ Thailand change โดยการให้แต่ละหน่วยงานไปคุยกันว่าปัญหาของหน่วยงานเราเป็นอย่างไร และอะไรคือปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน 1 ปัญหา เพื่อที่จะได้นำไปเสนอในหน่วยงานอื่นอีก 5 หน่วยงาน แล้วเลือกปัญหาที่สำคัญเรียงตามลำดับความสำคัญใน 5 หน่วยงานมานำเสนอต่อ กกบ. พอได้นโยบายเลยมานั่งคุยกันปุ๊บแบบสุนทรียสนทนา สรุปปัญหาที่สำคัญคือ การขาดแคลนบุคลากรในหน่วยงานเรา เริ่มจากเคที่ป้าๆแม่ๆคาดหวังว่าจะช่วยเรื่องลงข้อมูลในคอมพิวเตอร์ให้สมบูรณ์มากกว่านี้ แต่เคให้เหตุผลว่า ต้องดูแลงาน IC เปลี่ยนผ้าปูที่นอน ทำความสะอาดของเครื่องใช้ ดูแลของ supply ให้บริการคัดกรองผู้ป่วยอีกทั้งยังต้องคัดกรองสุรา สุขภาพจิต ทำให้ใช้เวลาในการทำงานมาก บางครั้งต้องไปติดต่อเทศบาลให้อีก นอกจากนั้นคอมพิวเตอร์ก็ยังมีปัญหา ติดๆขัดๆ ส่งซ่อมเฉลี่ยเดือนละ 2 ครั้ง จึงทำให้การลงข้อมูลทำได้ไม่เต็มที่ แม่น้อยก็ช่วยในเรื่องข้อมูลได้ไม่เต็มที่เหมือนกัน เนื่องจากต้องรับงานทำบัตรทอง ช่วยวางแผนครอบครัวตามหน้าที่ลูกจ้างอนามัยแล้วต้องช่วยลงคอมงานวางแผนครอบครัวอีก งานสารบรรณรับ-ส่งหนังสือเข้าออก งานพัสดุ เป็นกรรมการนั่นนี่ประชุมอีกบางวาระ ครั้งจะลงข้อมูลเชิงลึกก็มีปัญหาอีก "อิปี้ต๋าบ่ดี บ่ใคร่เข้าใจ๋โปรแกรมแฮ๋ม ถ้าเป็น cm_pop อย่างตะก่อน อิปี้สู้ต๋าย" แม่ต้อยก็รับงานด้านบริการอีกรอบด้าน งานตรวจรักษา งาน อสม. งานวิชาการบางส่วน "ต้อยก่ใคร่ก๊านแล้วหนา..." น้ำตาพาลจะไหลตามประสาผู้มีจิตใจอ่อนไหว ป้าติ๊กน่ะหรือ ก็แบกรับเต็มที่เหมือนกัน ทั้งงานบริหาร บริการ วิชาการ แผนงานโครงการ ล้างหนี้ "โอย..อิป้าก่บ่ไคร่ไหวเหมือนกั๋นเนาะ" สรุปว่า "ขอคนมาช่วยสักสองคนเต๊อะ คนลงข้อมูลกับพยาบาลแฮ๋มคนเนาะ"

จุดอื่นเขาเพิ่มคนขยายงานกัน แต่ PCU ขอแค่คนมาช่วยตรึงอัตรากำลังให้ทำงานได้สมศักดิ์ศรี PCU ของโรงพยาบาลหน่อยก็จะเป็นอนิสงค์ผลบุญให้แก่ประชาชนตำบลสารภี เพราะอยู่ในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลเสียเปล่า แต่ได้รับบริการสู้คนตำบลอื่นที่อยู่นอกเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลก็ไม่ได้ ปัญหานี้ใครจะช่วยได้หนอ คนตำบลสารภีไม่คิดอะไรบ้างหรือคะ หรือคิดแค่อยากได้แค่การรักษา ไม่ต้องสร้างเสริมสุขภาพ ไม่ต้องป้องกันโรค ไม่คำนึงถึงภาวะสุขภาพที่ดีเลยหรืออย่างไร

ที่ประชุมลงมติให้น้องต้อยไปนำเสนอปัญหา เพื่อขอความเห็นใจแก้ไขปัญหาอย่างรีบด่วน โดยเฉพาะน้องต้อยเธอมีความสามารถพิเศษในการสร้างความเอ็นดูสงสารเนื่องจากต่อมน้ำตาเธอจะอยู่ตื้นมากๆ พูดๆอยู่ เธอก็สามารถเรียกหยาดน้ำเป็นฝนพร่างพรูลงมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ 5 หน่วยงานไหนที่ได้รับฟังเธอเป็นครั้งแรก ให้เตรียมทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้าไว้ด้วย

"เราเตือนท่านแล้ว...ขอบอกกก"



วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

ตามนางเอกไปKM

15-16 กันยายน 53 มีโอกาสตามพี่ปุ้ยไปร่วมประชุมการสรุปบทเรียนโครงการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ที่เชียงราย ตอนแรก ผอ.ให้หัวหน้าฝ่ายแผนงานไป แต่เผอิญท่านไม่ว่าง ข้าเจ้าเลยมีโอกาสไปร่วมแจมกะเขาด้วย โชคดีมากก...เพราะได้พักโรงแรมหกดาวละมั้ง..แบบหรูเริ่ดสะแมนแตน นัยว่าคืนละ 5,000 บาท(แต่ปัจจุบันลดราคาแล้วเหลือ 1,800) ซึ่งถ้าไม่ได้มาประชุมอย่างนี้ไม่มีวาสนาได้มานอนตีพุงแน่ แต่ที่เริ่ดกว่านั้นคือได้ฟังอาจารย์โกมาตรบรรยาย วิเคราะห์ สังเคราะห์รูปแบบการนำเสนอที่พวกเราต่างพากันทำการบ้านอย่างเคร่งเครียด (เว่อร์ไปป่าวเนี่ย)
ก่อนอื่นคุณหมอทิฆัมพร จ่างจิต ผอ.รพ.พานมาเปิดประชุม ท่านพูดได้ดีมาก ว่าที่พวกเราทำกันอยู่ในงานปฐมภูมิจนกระทั่งออกมาเป็นเรื่องเล่านั้นต้องมีทั้งฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา หรืออิทธิบาทสี่นั่นเอง งานถึงออกมาได้ คือต้องมีความพอใจที่จะทำ มีความพากเพียรทำไปด้วยใจตั้งมั่น เอาใจใส่ สุดท้ายก็มีการใคร่ครวญถึงสิ่งที่กระทำไปว่าได้ผลดีหรือไม่อย่างไร เหมือนการทำ PDCA ที่ไม่ใช่ Please Don't Change Anything แบบบางคนอยากให้เป็น
หลังจากนั้นอาจารย์หมอโกมาตรก็พูดถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้อีกครั้ง เพราะอาจารย์บอกว่า คนที่มามีประเภทผลัดกันมาอยู่ด้วย ไม่เป็นขาประจำ ตามลักษณะนิสัยของสาธารณสุข ประมาณว่าเวียนกันให้ได้ออกจากที่ทำงานเท่าเทียมกัน เคยไปแล้วให้คนอื่นไปมั่ง อย่างนี้ก็มี
อาจารย์มีวิธีการบรรยาย สรุปการบรรยายที่ยอดเยี่ยม ได้ไอเดียที่เป็นประโยชน์ต่อแนวคิดการทำงานของเรามาก ไม่ง่วงเลย อาจารย์จะให้พวกเราพูดกันทุกคน อ่านแล้ววิเคราะห์สังเคราะห์ความรู้ที่ได้ออกมาตามความคิดของเรา ไม่มีถูกผิด แต่สามารถดึงเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ได้อย่างละเมียดละไม (ประมาณว่าเนียน...) แล้วก็ให้ฟังผู้อื่นพูด สรุปว่าได้ฟัง พูด อ่าน สุดท้ายก็เขียนส่งสองหน้ากระดาษ แน่นอนว่าทุกกระบวนการต้องคิดอยู่แล้ว เลยมีทั้ง สุ จิ ปุ ลิ
อาจารย์พูดถึง "กรณีศึกษา" ที่ให้ทุกคนเขียนเรื่องของตัวเองมา CUP ละ 3 เรื่อง พี่ปุ้ยเตรียมไป 2 เรื่อง PCUสารภีเตรียมไป 1 เรื่อง

ทำไมต้อง "กรณีศึกษา"
เพราะบริการปฐมภูมิเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ มีความสลับซับซ้อนไม่มีสูตรตายตัว ไม่สามารถลอกเลียนกันได้ต้องมาปรับใช้ตามบริบทของตนเอง แค่เป็นเครื่องมือที่จุดประกายความคิดแล้ว generate สิ่งใหม่ๆขึ้นในตัวเอง เป็นการสร้างฐานความรู้ไว้ให้ศึกษา สร้างผู้รู้ในระบบ primary care เรื่องต่างๆที่ทำด้วยตนเอง ตกผลึกด้วยตนเองและสามารถสอนผู้อื่นได้ เป้าหมาย case study ต้องมีอย่างน้อย 500 case

การจัดการความรู้กับ "กรณีศึกษา"
ใช้ปลาทูโมเดล ที่หัวปลาเป็น KV: Knowledge Vision คือต้องเสนอเรื่องอะไรที่ทำได้ดีหนึ่งเมนู จากนั้นท้องปลา KS: Knowledge Sharingคือเอาเมนูเด็ดมาโชว์หนึ่งจานประกอบด้วยอะไรบ้าง เครื่องปรุงที่ใส่ใช้อะไร อย่างไร แล้วถึงจะเป็นหางปลา KA: Knowledge Asset ที่กินแล้วอร่อย คนอยากจะเอาไปทำตาม อาจารย์บอกว่า KA = case study ที่ไม่หนา อ่านแล้วฉลาดขึ้น

อาจารย์ให้ลองเล่าให้คนในกลุ่มฟัง อาจารย์ก็แวะเวียนไปฟังแล้วคอมเม้นท์ โชคดีที่มานั่งฟังของPCU ด้วย เพราะอาจารย์คอมเม้นท์จนเราต้อง ...เออ จริงแฮะ... เรื่องของPCU มันมีเรื่องที่ซ่อนในเรื่องเล่าตั้งสี่เรื่อง ทำไมไม่ focus มาซักหนึ่งเรื่อง หรือเขียนมาสี่เรื่องไปเลย จับจุดเด่นของเรื่องให้ได้โดยมีเทคนิคดังนี้ แฮ่ม...

1. เล่าแบบ before&after ก่อนทำเป็นอย่างไรหลังทำมีอะไรที่แตกต่าง ข้อดีหรือผลดีที่ได้รับเกิดประโยชน์อะไรบ้าง
2.วิธีที่จะนำมาซึ่งเกิดผลนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือเกิดจากกิจกรรมที่เฉพาะเจาะจงอะไร
3.มีหลักฐานอะไรยืนยันว่าได้ผล
เน้นการถอดบทเรียนเชิงระบบ โดยดูว่ามีขั้นตอนของการทำ case study นั้นอย่างไร มีหลักการ หลักเกณฑ์ หรือระเบียบวิธีอะไร มีการประสานงานที่เชื่อมโยงกันหรือไม่ มีการติดตามว่าเป็นไปตามขั้นตอนหรือไม่อย่างไร สุดท้ายต้องสรุปให้ได้ว่า บทเรียนเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ......

ที่อาจารย์เน้นคือ ข้อมูลไม่อยู่ที่ตัวเราที่เดียว ดังนั้นใครเกี่ยวข้องบ้างกับเรื่องที่เราทำ ต้องไป KM โดยคุยกับทีมให้มากขึ้นว่า ทำไมคิดเรื่องนี้ขึ้นมา มีปัญหาอะไร วิธีการแก้ไขปัญหามีความแปลกใหม่ น่าสนใจ creative หรือเปล่า เห็นอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว "ถกไปสู่การพัฒนาระบบ" โดยดึงมิติเชิงระบบในกรณีศึกษาออกมาให้เห็น

ตัวช่วยการจัดการความรู้คือ แผนที่ความรู้ในองค์กร
- Mapping ผลงานเด่น ไม่ว่าจะเป็นโครงการ นวตกรรม ผลงานที่ได้รับรางวัล งานวิจัย เรื่องเล่า
- Mapping คนทำงาน ได้แก่ เจ้าของผลงานเด่น คนต้นแบบ คนมีทักษะเฉพาะ หรือเป็นวิทยากร
- Mapping ความรู้ โมเดลต่าง ๆ Best practices เครื่องมือการทำงาน ความรู้ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาสุขภาพท้องถิ่น เอกสาร หนังสือและสื่อต่าง ๆ

การบ้าน
นำแบบฟอร์มแผนที่ความรู้ไปทำต่อ
เลือกสามกรณีศึกษา
กำหนดคนเขียนหรือทีม
ชี้แจงกับผู้เขียนเคส
กรณีศึกษาความยาว 3-5 หน้า

ส่งก่อน 16 ตุลาคมเจ๊าาาา.....

ซ่อยหน่อยแหน้....




วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

APN ไว้เอ็นอย่างเดียวกา?!!

ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่สอบผ่านข้อเขียน Advanced Practice Nurse -APN (การปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง) และกำลังจะไปสอบปากเปล่า ถึงอย่างไรสอบข้อเขียนผ่านก็ได้รับเงิน พตส.2,000 บาทแล้ว ลองทบทวนว่าสมรรถนะของ APN ที่ต้องมี มีอะไรบ้าง

สมรรถนะ ที่ 1
มีความสามารถในการพัฒนาจัดการ และกำกับระบบ การดูแล กลุ่มเป้าหมายหรือ เฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะโรค(Care management)
สมรรถนะที่ 2
มีความสามารถในการดูแลกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มเฉพาะโรคที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อน (Direct Care)
สมรรถนะที่ 3
มีความสามารถในการประสานงาน (Collaboration) ระดับสหสาขา /คร่อมสายงาน
สมรรถนะที่ 4
มีความสามารถในการเสริมสร้างพลังอำนาจ (empowering) การสอน (educating) การฝึก (coaching) การเป็นพี่เลี้ยงในการปฏิบัติ(mentoring)
สมรรถนะที่ 5
มีความสามารถในการให้คำปรึกษาทางคลินิกในการดูแลผู้ป่วยหรือผู้ใช้บริการกลุ่มเป้าหมายที่ตนเองเชี่ยวชาญ(Consultation)
สมรรถนะที่ 6
มีความสามารถในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change agent)
สมรรถนะที่ 7
มีความสามารถในการให้เหตุผลทางจริยธรรม และ การตัดสินเชิงจริยธรรม (Ethical reasoning and ethical decision making
สมรรถนะที่ 8
มีความสามารถในการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-Based Practice
สมรรถนะที่ 9
มีความสามารถในการจัดการและประเมินผลลัพธ์ (Outcome management and evaluation)

เงินพตส.ก็ได้มากกว่าหัวหน้าน๊า...ทำงานตามสมรรถนะได้เต็มที่เลยพร้อมสนับสนุน ไม่ต้องเกรงใจ ให้ได้แม้ตำแหน่งหัวหน้า(เพราะกำลังจะขอไปอยู่ที่อื่น) อย่าให้ใครมาถามว่า "APN ไว้เอ็นอย่างเดียวกา?!" ให้กำลังใจ สู้ๆ ควรพัฒนาบทบาทและงานของตนเองให้มีความชัดเจนมากขึ้น จุดมุ่งหมายควรอยู่ที่ผลลัพธ์ของผู้ป่วยที่ดีขึ้น ไม่ใช่หวังเพียงตำแหน่ง APN เอาไว้"เอ็น" และเงิน พตส.ที่เพิ่มขึ้น ลองทบทวนตัวเองว่า สมรรถนะทั้งหลายแหล่ทำได้ขนาดไหน การจะให้คนอื่นยอมรับเราได้ ต้องทำงานเพื่อแสดงผลให้เกิดให้คนอื่นยอมรับ ว่ามีเราทำงานแล้วเกิดผลที่ดีและแตกต่างจากที่ไม่มีเรา ผลงานที่เกิดจากความคิดริเริ่มของตัวเราเองจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจต่อตำแหน่งที่เราได้รับและยืดอกได้สมศักดิ์ศรี อยากฝากให้ ว่าที่ APN สารภีทุกคนได้คิดค่ะ

โหลดเพลง

วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

คำเตือนจากกัลยาณมิตร

วันนี้วันอาทิตย์อยู่เวร OPD คนไข้เยอะพอดู ยิ่งตอนบ่ายต้องตรวจด้วยพิมพ์ใบสั่งยาไปด้วย สติเกือบๆหลุดไปเหมือนกัน เร่งตรวจเพราะคนไข้บางคนมาชะโงกหน้าดูบ้าง เดินเข้ามาเอา OPD Card วางบนโต๊ะบ้าง เห็นใจตัวเองเริ่มหงุดหงิด จนต้องหัวเราะแล้วแซวคนไข้ว่า ยายเป็นวัยรุ่นใจร้อนน้า รอหน่อยนะ แต่ก็ทำไปจนลงเวร ไม่ได้เข้าห้องน้ำเลยนะเนี่ย ดีที่ไม่เป็น Cystitis
ค่ำมาเปิด FB เห็นผอ.รพ.post บนกระดานสนทนาเลยอดที่จะแจมไม่ได้ ปรากฎว่า อ.นพ.วรวุฒิมาเม้นท์เตือนดังนี้แล

เลยได้สติ อุตส่าห์ไปปฏิบัติธรรมมาแล้วด้วย ยังหลุดอีกนะ ดีที่ยังมีกัลยาณมิตรช่วยเตือน นี่แหละนะเขาถึงว่า หลายคนหลายความคิดที่สะท้อนให้เห็นมุมมองอื่นๆ ช่วยเตือนสติได้ดี ขอบคุณนะคะ

วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ไข้เลือดออกอีกแล้ว....เจ้าค่า!!


ฟ้าให้หมออนามัยมาเกิด ทำไมต้องให้ยุงลายมาเกิดด้วย!!!!!
ปีนี้ว่าจะคุมให้ดีๆ แล้วเกิดเหตุอาเพศใดฤา เคสไข้เลือดออกถึงได้พุ่งพรวดๆแบบนี้
เริ่มรณรงค์กันตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้วนา big cleaning day ก็แล้ว พ่นหมอกควันครอบคลุมก็แล้ว ลงพื้นที่กันไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ จนอิดหนาระอาใจไปตามๆกัน แต่เอาเหอะ..เพื่อประชาชน ..ต้องสู้ ต้องสู้ถึงจะชนะ..
เช้าวันนี้ นัด อสม.ทุกหมู่บ้านทั้ง 120 คน ลงพื้นที่ ตามล่าแหล่งยุงในหมู่ที่ 3 เพราะมีเคสติดๆกัน ตามหลักระบาดวิทยา เป็นที่น่าตกใจที่พบว่า มีลูกน้ำยุงลายเกือบทุกหลังคาเรือน สภาพบ้านเรือนที่มีขยะแล้วไม่ทำลายหรือเก็บให้พ้นจากน้ำฝน ทำให้พบลูกน้ำยุงลายในน้ำฝนที่ขังบนถุงก๊อบแก๊บ กระถางปลูกดอกไม้ซึ่งมีดินที่แข็ง แจกันบนศาลพระภูมิที่อยู่นอกบ้าน
 ชาวบ้านที่ยังขาดความตระหนักถึงอันตรายของโรคไข้เลือดออก และรู้สึกอับอายที่ อสม.และหมออนามัยไปสำรวจบ้าน บ้างก็ปิดประตูซะงั้น
ทำยังไงน้อ ถึงจะควบคุมไข้เลือดออกได้ซะที.... เหนื่อยละนะคะ คุงเพ่....

และแล้ว...ศึกนอกยังไม่สร่างซา ศึกในก็ประทุมาอีก..จนต้องพึ่งบารมีเจ้าพ่อ เอ๊ย ผอก.รพ. มาเป็นท้าวมาลีวราชตัดสินประนีประนอมความไม่เข้าใจระหว่างพ่อหลวงกับ อสม.
 ลงพื้นที่เสร็จ..ตอนเย็นนัดพ่อหลวงกับ อสม.พบผอก.รพ.คุยกัน สรุปว่ามีความเข้าใจกันดีแล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ต่อไปคงทำงานด้วยกันอย่างราบรื่น  แต่สรุปแล้ว..อิช้านใช้เวลาวันอาทิตย์นี้ไปทั้งวัน ยังไม่ได้ซักผ้าเลย แงๆๆ ซ้ามีจะเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋ามาโยนให้หน้าโรงบาลซักวันเป็นแน่แท้......

วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553

โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอสารภีเริ่มแล้วววว!!!



เสาร์ที่ 31 กรกฎาคม 2553 เป็นวันเสาร์แรกที่เริ่มโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตปีที่ 15 ครั้งที่ 1
พระสงฆ์พร้อมศรัทธาญาติโยมมาทุกวัดในอำเภอสารภี

เวลา 18.00 น. บรรดาพระสงฆ์พร้อมญาติโยมก็ทยอยมาที่วัดสารภี ซึ่งได้จัดสถานที่ตั้งแต่เมื่อวาน แต่ฝนตกตั้งสองยก เช็ดเก้าอี้นับพันตัวสองครั้ง เหนื่อยกันไม่ใช่น้อย (ประมาณห้าพันตัว)

20.00 น. เปิดพิธีโดยนายอำเภอมงคล สุกใส
จากนั้นก็สวดมนต์ ตอบปัญหาธรรมะ แจกรางวัล ถวายสังฆทานแล้วก็กลับกัน

โชคดีที่ฝนไม่ตก........

งานนี้เป็นครั้งแรกของปีนี้ คนเลยเยอะเป็นพิเศษ มีแต่รอยยิ้ม แผนกต้อนรับก็ยกมือไหว้กันตั้งแต่หน้าวัดเลยทีเดียว










แผนกต้อนรับ.....
กระแสธรรมะที่หลั่งไหล เอิบอาบสู่หัวใจพุทธศาสนิกชน ยังความร่มเย็นดีแท้... อย่าลืมลมหายใจที่เข้าออกอยู่ตลอดเวลา อยู่กับปัจจุบัน ไม่พะวงถึงสิ่งที่ผ่านมา หรือกังวลสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ไข้เลือดออกที่รายงานเคสเพิ่มขึ้น...ฝนที่ยังตกไม่หยุด ตัวชี้วัดที่ต้องเก็บส่งเพื่อประเมินผลการปฏิบัติงาน โครงการที่ต้องเร่งรีบทำก่อนสิ้นปีงบประมาณ ไหนจะผู้ร่วมงานขาดหายไปจากภาวะเจ็บป่วย อีกคนก็ลาพักผ่อนอ่านหนังสือไปสอบเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของตนเองที่ต้องสนับสนุน ช่างเถอะ...หายใจเข้า...พุทธ....หายใจออก...โธ พรุ่งนี้ยังไม่มาถึง ทำวันนี้ให้ดีที่สุดก่อนนะ.........
รับไหว้.... เด็กๆแจกน้ำ...(น่าชื่นชม)

วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

บริการ ๆ งานที่พวกเราทำ....

Oh no! ไม่ใช่เฉพาะงานบริการในศสช.นะคะท่านผู้อ่าน เรายังมีงานที่นำเสนอให้ทราบว่า ศสช.เราทำอะไรไปบ้าง แล้วก็ได้โปรด.... พิจารณาหน่อยนะคร้า ว่า ..Why are we tired? cheer up, please.

19 ก.ค. 53  งานโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการอสมช.เบาหวานค่ะ ทำร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มช.

ห้องประชุมเล็กมาก แต่สบายๆ ผอ.รพ.เปิดงานให้ค่ะ
แล้วอาจารย์จากคณะพยาบาลฯเป็นวิทยากร


ฝึกปฏิบัติเจาะเลือดอย่างผู้เชี่ยวชาญ


26 ก.ค. 53 อีกงานค่ะ ไข้เลือดออก




อสม.ร่วมใจเอกซเรย์พื้นที่ตามล่าหาลูกน้ำยุงลายค่ะ



แจกพันธุ์ต้นตะไคร้หอม...ปลูกกันยุง  หวังผลปีหน้า.....


แจกปลาหางนกยูง


วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อบรมโยคะสำหรับประชาชนตำบลสารภี

เวลา 17.30 น. มีการอบรมโยคะโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้และสสส.นำสู่เทศบาลตำบลสารภีชื่อว่าโครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชนและครอบครัวตำบลสารภี ปรากฎว่าได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ผู้ที่ลงชื่อไม่ทันมาลงหน้างานกันจนจำนวนคนมากกว่าจำนวนเบาะ บางคนที่ติดประชุมมาไม่ทันก็ถูกจับจองเบาะไปแล้ว คาดว่าถ้าเจ้าตัวมาคงเกิดปัญหาแย่งเบาะกันอีกแน่ เลยบอกไว้ก่อนว่าวันจันทร์ผู้ที่ลงชื่อไว้น่าจะมาครบถ้วน ต้องขอคนมาทีหลังให้สิทธิคนมาก่อน ก็ไว้ดูกันต่อไปก่อนเน้อ บางคนที่มาอาจไม่สู้ต่อก็ได้
แต่ PCU เป็นแม่งานเหมือนกันนี่สิ ข้าเจ้าต้องอยู่จนงานเลิกทุกวันเหรอเนี่ย เพราะต้องรับผิดชอบห้องประชุม Oh my God !!! แต่ไม่มีที่ให้ฝึก แงๆๆๆ

วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2553

มหกรรมตลาดนัดสุขภาพ สุขภาพดีวิถีไทยปี 2

     และแล้วก็เสร็จสิ้นไปด้วยดี สำหรับปีนี้ เตรียมงานกันหลายเพลา เครียดพอดูจน apthous ulcer ขึ้นเต็มปาก ตั้งแต่เรียกประชุมโซน มาบ้างไม่มาบ้าง ประชุมทาง skype ก็แล้ว ทางโทรศัพท์ก็แล้ว จนสุดท้ายยางเนิ้งส่งตัวแทนมาสองคน มานั่งคุยกันถึง"เป๋นน้ำแล้ว" แบ่งงานกันเสร็จสรรพ เอาเงินให้คนรับผิดชอบไปจัดการ งานนี้ยางเนิ้งจัดการให้ค่อนข้างเยอะ ต้องขอบคุณจริงๆ โดยเฉพาะ "หมอหม่วย กับหมอเพ็ญพร" เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง วานนี้ก็มาช่วยกันเตรียมสถานที่ หนองแฝกมา 1 คน ยางเนิ้ง 2 คน สารภีไปหมดทั้งฝ่าย 5 คน เช้านี้ต่างฝ่ายต่างช่วยตัวเอง ไม่ได้ดูตำบลอื่นเลย พี่เลี้ยงอันได้แก่ พี่โหน่ง พี่ปุ้ย น้องยุ น้องน้อย มาพร้อมหน้าช่วยเตรียมป้ายไวนิลอย่างแข็งขัน ผอ.รพ.ในฐานะประธาน คปสอ.มาเปิดงาน เสร็จก็ "หมอเบญ" ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง อารมณ์ดี ชีวีมีสุข ห่างไกลโรคเบาหวานความดัน" ผู้เข้าร่วมได้ทำกิจกรรมสนุกสนานกันถ้วนหน้า
     หลังจากนั้นก็สาธิตการออกกำลังกายจากชมรมสร้างเสริมสุขภาพตำบลต่าง ๆ โดยขณะที่มีการสาธิตบนเวที ข้างล่างเวที ทั้งนักศึกษาคณะเภสัชฯ อาจารย์ หมออนามัย กลุ่มเสี่ยงที่มาร่วมงาน อสม. ต่างออกกำลังกายสุดสวิงริงโก เป็นที่ชื่นชมแก่ผู้มาร่วมงานเป็นอย่างยิ่ง
แล้วก็เป็นการเข้ารับความรู้ฐานต่าง ๆ ทั้งอาหาร ออกกำลังกาย ความรู้เรื่องโรค ตอบปัญหาชิงรางวัล ไข่ นม ผลไม้ บางคนเทียวไปตอบได้ไข่กลับบ้านไปไม่ใช่น้อย

งานนี้มีอาหารกลางวัน ข้าวห่อให้กลับบ้าน อิ่มหมีพีมันแล้วอย่าลืมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยนะคะ จะได้สุขภาพดี ไม่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง

ขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมให้งานสำเร็จด้วยดี โดยเฉพาะทีมงาน PCU ที่งานนี้ขอ  บอกว่า เต็มที่จริงๆ โดยเฉพาะน้องเคที่แบกโซฟาคนเดียว เหงื่อไหลไคลย้อย ขอให้สุขภาพแข็งแรงๆนะจ๊ะ

 หากมีงานหน้าให้หนองแฝกเป็นเจ้าภาพโตยเน้อ อิอิ

วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ไข้เลือดออกรายแรกปี 53

ในที่สุด หน้าฝนก็มาถึงพร้อมกับโรคไข้เลือดออก
หมู่ 3 ต.สารภี เป็นหมู่บ้านที่ครองแชมป์ไม่มีไข้เลือดออกมาหลายปี ในขณะที่หมู่บ้านอื่น ๆรายรอบเป็น แต่หมู่ 3 ก็ยืนยงคงกระพันมาได้ แต่ปีนี้กลับเสียแชมป์เป็นหมู่แรกของปีนี้ ทั้ง ๆที่ อสม. work มั่กๆคะ เข้ากับสัจธรรมที่ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา (หุ หุ เกี่ยวกันมั้ยเนี่ย)

เอาเถอะ ไหนๆมันก็เป็นไปแล้ว อสม. สู้ๆ ขณะเจ้าหน้าที่ลงสอบสวนโรค อสม.ทุกหมู่บ้านก็มาควบคุมดูแลภาชนะน้ำขัง พ่นหมอกควัน ครึกครื้นกันเป็นอันดี

ฝากเตือนประชาชนตำบลสารภีทุกท่านด้วยนะคะ ปีนี้ขออย่าทะลุเป้าเลย สาธุ _/\_

ไม่อยากให้เป็นแบบนี้อีกค่ะ  (ไม่อยากออกกลางคืน.....)


สถานการณ์โรคไข้เลือดออก


จำนวนผู้ป่วยสะสม DHF+DF+DSS ณ วันที่ 11 พ.ค. 2553 (สัปดาห์ที่ 18)
1จำนวนผู้ป่วย (ราย)15,047ราย
2จำนวนผู้ป่วยตาย (ราย)18ราย
3อัตราป่วยต่อแสนประชากร23.64 
4อัตราตายต่อแสนประชากร0.03 
5อัตราป่วยตาย (ร้อยละ)0.12
ในปีนี้สภาพอากาศร้อนเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา สิ่งที่น่าห่วง คือ โรคไข้เลือดออก ซึ่งมีสาเหตุจากยุงลาย มีข้อมูลการศึกษาทางวิชาการพบว่าขณะนี้ตัวลูกน้ำยุงลายจะกลายเป็นตัวยุงเร็วกว่าอดีตที่ใช้เวลาประมาณ 7 วัน ก็เหลือประมาณ 5 วัน จะทำให้ปริมาณยุงตัวโตเต็มวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการวิเคราะห์สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในปี 2553 พบว่าโรคมีสัญญาณอาจเกิดการระบาดในปีนี้ได้ เน้นย้ำให้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุก 7 วัน



วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เรื่องจากที่ประชุมอสม.

วันนี้วันดีค่ะ อสม.พร้อมหน้ามาประชุมที่ห้องประชุมโรงพยาบาลสารภี
ก่อนประชุมมีโอกาสได้ไปนั่งฟัง อสม.แสดงความรู้สึก
หลายคนท้อแท้กับการเป็น อสม.
" เงินเดือนที่ได้ 600 บาท มันไม่คุ้มกับการที่ต้องทำงานอย่างหนักเลยนะหมอ..." "บางทีกำลังจะตั้งน้ำทำกับข้าวให้ลูกกับผัวกิน หมอมาเอิ้นไปส่งเยี่ยมบ้านหน่อย ก็ต้องดับไฟไปส่งหมอก่อน" "ยังต้องเก็บขี้เต้อ(เสมหะ)แฮ๋ม หมอที่อบรมเปิ้นบอกถ้ายังไม่ไปส่ง เอาไว้ในตู้เย็นก่อนก็ได้ ผัวบอกถ้าเอามาไว้ในตู้เย็น เฮาเลิกกั๋นเลย ถ้าบ่อั้นก็เลิกเป๋น อสม.ไปเลย....."

ฟังแล้วก็อดที่จะเห็นใจและหดหู่ใจไม่ได้ เราทำให้คนที่มีจิตอาสามาทำงานให้ชาวบ้านเดือดร้อนหรือนี่

"บางทีนะ หมอนัดชาวบ้านมาเวลาบ่ายโมง แต่สองโมงสามโมงหมอก็ยังไม่มา....ชาวบ้านก็โกรธ อสม.ว่าให้มารอ เขาก็ต้องไปทำงานเหมือนกัน...."

สำหรับงานที่ตามมาอีกเรื่อย ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มี นักศึกษามหาวิทยาลัยลงฝึก ลงทำวิจัย มีงานที่เพิ่มเติมมาจากงานที่ต้องทำอยู่แล้ว ก็เหมือนกับเราซ้ำเติมความเดือดร้อนให้เขาอีก จากการที่เราตั้งหน้าตั้งตาจะเก็บผลงานจาก อสม. เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรให้ดีขึ้น หรือมีใครได้ยินเสียงที่ดูเหมือนจะพยายามบอกเราทั้งๆที่เกรงอกเกรงใจอย่างล้นเหลือกันบ้างไหม หรือจะปล่อยให้เสียงเหล่านี้เลือนหายไปพร้อมกับคำว่า "ขอข้าเจ้าลาออกเต๊อะหมอ..."

สะเทือนใจมากนะ....  ถ้าเป็นเรา เราจะทำอย่างไร? จะรู้สึกอย่างไร?

วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ทำบุญกับพระภิกษุณีที่นิโรธาราม

วันพืชมงคลปีนี้ตรงกับวันพระ ชมรมจิตวิวัฒน์โรงพยาบาลสารภีได้ไปทำบุญที่สถานปฏิบัติธรรมนิโรธาราม มีผู้อำนวยการโรงพยาบาลนำทีม
ไปถึงก็เข้ากราบพระภิกษุณีรุ้งเดือน ซึ่งก็เมตตาบรรยายธรรม อริยสัจ 4 ในเวลาอันสั้นแต่ได้เนื้อความครบ จากความรู้ทางธรรมอันริบหรี่ของ จขบ. พอสรุปได้ดังนี้
 คนเราเกิดมาก็มีทุกข์จากการไม่ได้ของรักของที่พอใจ ทุกข์จากการพลัดพราก การร่ำไรรำพัน ความคับแค้นใจ โดยมีสาเหตุแห่งทุกข์ คือ จิตใจที่เพลิดเพลิน ท่านสอนว่า "จงทำงานด้วยความพอใจหรือฉันทะ แต่อย่าติดใจเพลิดเพลิน" "จงทำงานด้วยความสุข หรือปิติ แต่อย่าติดใจเพลิดเพลิน" ซึ่งการปฏิบัติที่แสดงว่าละความติดใจเพลิดเพลินแล้วคือ ศีล ถ้าถือศีลได้ก็แสดงว่าละความติดใจเพลิดเพลินได้แล้ว เช่น เราปิ๊งคนที่มีเจ้าของแล้ว แต่เราถือศีลข้อ 3 เราไม่ไปพัวพันกับคนคนนั้น ก็แสดงว่าเราไม่ไปติดใจเพลิดเพลินต่อ และถ้าเราเฝ้าดูจิต  ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี เราก็จะพ้นทุกข์ได้


ชัดเจนมั้ยคะ แค่เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงสามารถสรุป อริยสัจ 4 ได้อย่างที่เราๆ คนยังไม่พ้นโลกเข้าใจได้ เนี่ยนะ ถ้าเราได้ศึกษาจริงๆจังๆ อาจออกบวชตามก็ได้นา อิอิ


วันที่ 16-18 กรกฎาคม 2553 อย่าลืมมาปฏิบัติธรรมและฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ที่โรงพยาบาลสารภี เด้อเจ๊า จะอยู่ปฏิบัติธรรมทั้งคืนก็ได้มีที่นอนอย่างดีที่ PCU เจ๊า

ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่สาธุชนทั่วหน้า


สวัสดีเจ๊า

วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553

การจัดการความเครียด

งานสุขภาพจิต จัดประชุมเรื่อง Stress management เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 PCU มีผู้เข้าร่วม 3 คน กลับมาเลยให้เล่าให้ฟังว่าเป็นไงมั่ง สรุปแล้วก็หนักไปด้านกิจกรรมคลายเครียด พอตั้งคำถามวิธีการคลายเครียดของแต่ละคน พบว่า เคซึ่งเป็นน้อง(หลาน)คนสุดท้อง บอกว่า วิธีการคลายเครียดของเขาคือ เดินไปเดินมา ทำนู่นทำนี่ก็จะผ่อนคลายได้ พี่ต้อยบอกว่า อ่านหนังสือ(นิยาย) ฟังเพลง ดูหนัง พาครอบครัวไปเปลี่ยนบรรยากาศ ส่วนพี่น้อยบอกว่า ทำสมาธิสวดมนต์ รดน้ำต้นไม้


น่าสนใจตรงที่ว่า วัยที่แตกต่างกันจะมีวิธีการคลายเครียดต่างกัน รุ่นเคจะเป็นวัยรุ่นการคลายเครียดจะเป็นด้าน Physical มากกว่า ส่วนพี่ต้อยวัยทำงานก็จะเน้นหนักด้านครอบครัวและส่วนตัว ในขณะที่พี่น้อยที่เข้าสู่วัยผู้ใหญ่(ตอนเกือบปลาย อิอิ)จะเน้นด้านจิตวิญญาณ จากสิ่งที่ค้นพบวันนี้เป็นแนวทางในการ approach ผู้ป่วยที่มีความเครียดได้ว่า ควรแนะนำการจัดการความเครียดให้เหมาะสมกับวัย จะช่วยผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2553

KM ที่ไม่ใช่ MK

        เมื่อวาน(ส. 3 เม.ย. 53)ไปฟังอ.ดร.ไพฑูรย์  ช่วงฉ่ำ บรรยายเรื่องการจัดการความรู้จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ ได้อะไรมาเยอะมาก ฟังๆแล้วสิ่งที่เราทำไปมันคือ KM ชิมิ แต่เรียบเรียงไม่เป็น AAR ก็เคยทำ เช่น ตอนรณรงค์ตรวจมะเร็งปากมดลูกหลังเสร็จงานเราก็มานั่งคุยกันว่ามีปัญหาการทำงานแต่ละขั้นตอนอย่างไร เราวางแผนว่าจะแก้ไขอย่างไร บันทึกไว้แล้วนะ แต่ขอไปค้นก่อนนะ มันน่าจะเป็นชุดความรู้อีกอันหนึ่งได้ ก็ดีนะถ้าเราจะเก็บไว้บนเวปบล็อกนี้ ทุกทีก็บ่นบ้าไปเรื่อย เอาใหม่ดีกว่านะ รอสมองปลอดโปร่งก่อนเน้อจะมาเขียน อิอิ ตอนนี้ขอไปเรียบเรียงนวัตกรรมที่จะส่งเข้าประกวดหน่อย
       อันที่จริงนวัตกรรมที่ได้ก็มาจากการจัดการความรู้นะแหละ เพราะก็มาจากปัญหาหน้างาน ทบทวนตัวชี้วัดแล้วถึงมาวางแผนแก้ปัญหา ได้ผลลัพธ์ก็สรุปบทเรียนว่าจะทำยังไงให้ยั่งยืน จากนั้นจึงเผยแพร่เป็นนวัตกรรมนี่ไง นี่ก็จะเป็นชุดความรู้อีกอันที่จะบันทึกในคลังความรู้
        เก่งแต่ข้างนอก เวลาอาจารย์ถาม "ดักแซ้บ" เน้อ พี่น้อง.....



วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

จิตอาสาใน PCU

จิตอาสา คือ ผู้ที่มีจิตใจที่เป็นผู้ให้ เช่น ให้สิ่งของ ให้เงิน ให้ความช่วยเหลือด้วยกำลังแรงกาย แรงสมอง ซึ่งเป็นการเสียสละ สิ่งที่ตนเองมี แม้กระทั่งเวลา เพื่อเผื่อแผ่ ให้กับส่วนรวม...อีกทั้งยังช่วยลด "อัตตา" หรือความเป็นตัว เป็นตน ของตนเองลงได้บ้าง PCU เรานับว่ามีทุนทางความร่วมมือ(Collaboration capital) ชาว PCU เรามีความคิดที่ช่วยเหลือผู้อื่น มีีความสุขที่ได้ช่วยเหลือ โดยเราแข่งกันทำความดี และนำมาชื่นชมกันและกัน นับเป็นสิ่งที่ดีขององค์กรเล็ก ๆนี้
วันนี้เราได้รับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินที่เคยมารับยาทาClobetasole มาตลอดหลายครั้ง ผู้ป่วยเบิกได้ มารับยาที่ PCU สะดวกดี ปกติก็จ่ายให้ แต่อาทิตย์ที่แล้วเกิด "มึ้ง"ขึ้นมาว่า ครีมตัวนี้เป็น steroid ใช้นาน ๆอาจมีผลเสียกับผู้ป่วย ตอนนี้อาการก็ดีขึ้นแล้ว เลยค้น internet ดูแล้วให้ผู้ป่วยดูด้วย บอกกับคุณลุงว่า "คุณลุงคะ เราใช้ยาตัวอื่นดูมั้ยคะ ลองค่อยๆลดการใช้ยาตัวนี้ ลองใช้TA ดูก่อน ถ้าเป็นยังไงคุณลุงกลับมา ตรวจนะคะ" ปรากฎว่า คุณลุงกลับมาจริง ๆ ด้วย คราวนี้ผื่นขึ้นมาอีก เขียนใบ refer ส่งไปให้คุณหมอสุนีย์ตรวจ น้องเคอาสาพาไปส่ง OPD คุณหมอ refer ต่อไป รพ.มหาราชฯพบแพทย์ผิวหนัง คุณลุงกลับมาบอกว่า "ไม่อยากไปมหาราชฯ เคยไปตรวจกับหมอผิวหนังที่ลำพูนแต่แพงมาก เบิกก็ไม่ได้" น้องต้อยเลยให้ทางเลือกว่า "ไปตรวจศรีพัฒน์มั้ยคะ เสียเฉพาะค่าหมอ ค่ายาเบิกได้" น้องต้อยโทรศัพท์ติดต่อศรีพัฒน์ถามแพทย์ผิวหนังออกตรวจวันจันทร์กับพฤหัสฯบ่าย เลยบอกคุณลุงไปวันนี้เลยก็ได้ คุณลุงขอบอกขอบใจใหญ่ที่มีทางเลือกมาอีกทาง บอกจะไปวันนี้แล้ว

ความดีเหล่านี้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงคนในองค์กรเราให้มุ่งมั่นที่จะทำความดีขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างน้อยคะแนนความพึงพอใจจากผู้ป่วยที่เราได้รับก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีเป็นประจักษ์พยานว่า "ทำดีได้ดี"

แต่สิ่งที่เราต้องปรึกษาผู้รู้และหาแนวทางแก้ไขต่อไปคือ การ RM (Re med) โรคสะเก็ดเงินต้องมี criteria อย่างไร และในระดับปฐมภูมิเราทำได้แค่ไหน เพราะบางครั้งผู้ป่วยก็ไม่ยอมไปโรงพยาบาล
ขอเชิญผู้รู้ชี้แนะค่ะ

เรื่องอยากเล่า

สัปดาห์ที่ผ่านมา PCU เรามีการประเมินมาตรฐานสุขศึกษาสถานบริการระดับปฐมภูมิ
งานนี้เราเตรียมพร้อมเต็มที่ค่ะ... อสม.เราก็ช่วยเต็มที่ ตอบคำถามกันแบบไม่ออมคำตอบเลย อิอิ
ก่อนหน้าหนึ่งวัน เราลองเปิดสไลด์ฉายดูก่อน เพราะไปยืมเครื่องมาจากCMU ท่าวังตาลมาเลยต้องลองใช้ก่อน(อันนี้เป็นความเสี่ยงมั้ยคะ ผู้จัดการความเสี่ยง ที่เครื่องของ รพ.ไม่พร้อมใช้ เนื่องจากสีเพี้ยน ภาพออกมาไม่สวยสมจริง เลยต้องไปยืมที่อื่น แถมจอก็เอียง ขนาดผอก.รพ.ช่วยปรับยังเอียงอยู่เลย)
หลังการประเมินให้ปรับบางองค์ประกอบส่ง น่าจะผ่านนะ ผู้รับผิดชอบ(น้องต้อย)ทุ่มเต็มที่ค่ะ งานนี้


วันที่ 24 มี.ค. นัดผู้ป่วยฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ขลุกขลักนิดหน่อยตอนต้น ๆ เพราะไม่ได้แจกงานกันแต่ก็ปรับกันเล็กน้อยจนราบรื่น งวดหน้าแก้ตัวใหม่นะคะ อสม.ช่วยเหลือดีมากงานนี้




วันที่ 25 มี.ค. คลินิกเบาหวานบริการถึงบ้าน วันนี้น้ำตาลลดหลายคน  บางคนทานสมุนไพรร่วมด้วย ชักห่วงภาวะ hypoglycemia มีนักศึกษาเภสัชออกให้ความรู้ด้วย


วันที่ 28 มึ.ค. เปิดโครงการรณรงค์ต่อสู้เอาชนะไข้เลือดออกปี 2553 เริ่มต้นไวหน่อยจะได้ควบคุมได้เต็มที่


วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553

วัน อสม.

 เป็นวันพิเศษอีกวันหนึ่งที่ชาวสาธารณสุขให้ความสำคัญกับภาคีเครือข่ายของเรา
(เป็นอีกวันที่ต้องออกจากบ้านในวันหยุด ที่เป็นปกติของการทำงานชุมชน)
พี่น้อง อสม.สารภีและชมรมผู้สูงอายุภูมิใจเสนอการออกกำลังโดยการฟ้อนเจิงร่วมกัน




เห็น อสม. สารภีนั่งกันหนาแน่นแล้วก็อดชื่นชมในความพร้อมเพรียงกันไม่ได้
แต่...พอนายอำเภอเปิดงานแล้ว ดูการแสดงของสารภีกับขัวมุง จากนั้นก็มอบเกียรติบัตร
อสม.ก็เริ่มทยอยกลับ ...แป่วว!!!


อ้อ! ไม่ได้ไปไหนค่ะ  ไปตั้งหลักที่โรงพยาบาลค่ะ
อสม.จัดผ้าป่าหาเงินให้ปรับปรุงศูนย์สุขภาพชุมชนของเราค่ะ


ช่วยกันนับเงินค่ะ งานนี้ขอความร่วมมือจากทุกหลังคาเรือนในตำบลสารภี ขอตำบลอื่นไม่มากนัก แต่ละฝ่ายในโรงพยาบาลก็ร่วมด้วยช่วยกัน นับเป็นความร่วมมือร่วมใจกันอย่างแท้จริง


อันความกรุณาปราณี จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ
จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน




งานนี้นับได้คร่าวๆ สามหมื่นกว่าบาท พอใช้หนี้ให้ศูนย์สุขภาพชุมชนเราไปได้ อิอิ ยังเหลือพอปรับปรุงให้บรรลุวัตถุประสงค์เบื้องต้นได้อีก ที่เหลือปีหน้าเทศบาลอาจกรุณาช่วยเหลือต่อไป(นายกฯรับทราบค่ะ... เลขาบอก ขอบคุณล่วงหน้านะคะ)


ผ้าป่า อสม.เราปลอดเหล้า ไม่มีการสังสรรค์ เลี้ยงแต่ขนมจีน ดังนั้นหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นออกแล้ว เงินที่ทำบูญมาก็เป็นการทำบุญตามวัตถุประสงค์จริงๆ ส่งข่าวให้ผู้ทำบุญอนุโมทนาได้เต็มที่ค่ะ วันนี้เป็นวันเสาร์ห้าด้วย ใครทำบุญวันนี้จะได้ผลานิสงส์อย่างมากเลยนะคะ



ขออำนาจแห่งบารมีธรรมและผลานิสงส์แห่งผลบุญจงเป็นพลวัตรปัจจัยให้ทุกท่านประสบแต่ความสุขความเจริญ และความสำเร็จบรรลุเป้าหมายดังใจประสงค์ทุกประการเทอญ





วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553

เปิดคลินิคชุมชนตำบลสารภี


ขาดการ up blog ไปนาน มีอะไรๆใหม่ ๆ เข้ามาตั้งหลายอย่าง
ตั้งแต่เปิดคลินิคนอกเวลาที่สนับสนุนงบประมาณโดยเทศบาลตำบลสารภีที่สวยเช้ง น่าอยู่
เปิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 โดยปลัดอาวุโสของอำเภอสารภี
มีการแสดงฟ้อนเจิงของชมรมผู้สูงอายุร่วมกับ ชมรมอสม. ที่พร้อมเพรียงกันจนต้องร้อง
" Amazing!!!" เนื่องจากซ้อมกันคนละหมู่บ้าน พอมาฟ้อนด้วยกันก็พร้อมเพรียงกันจนน่าประหลาดใจ แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จะอยู่คนละชมรม คนละหมู่บ้าน แต่เมื่อเป็นคนสารภีด้วยกันก็มีความสามัคคีกันเป็นอันดี ยังความชื่นชมให้แก่ผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างยิ่ง




วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

แนวคิดเพร้าท์ (PROUT)

อะไรคือแนวคิดเพร้าท์ (PROUT)
เป็นคำย่อมาจาก Progressive Utilization Theory เป็นแนวคิดที่เผยแพร่โดย Prabat Ranjan Sargar (P.R.Sargar) นักปราชญ์ชาวอินเดีย ซึ่งมีการเผยแพร่ ตั้งแต่ ปี ค.ศ.1959 โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อ 2 ข้อ คือ
1. ทุกสรรพสิ่งในโลก ล้วนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มาจากจุดกำเนิดเดียวกัน และมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง ไม่สามารถแยกจากกันได้ ดังคำกล่าวที่ว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว (Butterfly effect) หรือที่เกี่ยวข้องและโยงกับทฤษฎีไร้ระเบียบ (chaos theory)
2. ทรัพยากรในโลกนี้แม้มีจำกัด แต่ก็เพียงพอสำหรับทุกชีวิตในโลก เพียงแต่ต้องรู้จักการใช้ การแบ่งปันและรู้จักการนำทรัพยากรเหล่านี้มาใช้อย่างเหมาะสม ดังสำนวนในภาษาอังกฤษที่ว่า No need for orchestra if the guitar can do
PROUT เป็นแนวคิดใหม่ของการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งพัฒนามาจากพื้นฐานจิตวิทยาแนวนีโอฮิวแมนนิส (Neo-Humanist Psychology) มีความเชื่อใน ความเป็นหนึ่งเดียวของคนในสังคมและ ความเท่าเทียมกันของคนในสังคมซึ่งดูจะคล้ายคลึงกับ แนวคิดทุนนิยม และ แนวคิดสังคมนิยม (คอมมิวนิสต์) หากมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยนำข้อดีและข้อด้อยของทั้งสองทฤษฎีมาผสมผสานกัน เน้นการนำแนวคิดไปใช้อย่างเหมาะสมกับบริบทของสังคมของตน เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่สมาชิกในครอบครัวโลก การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติให้ได้ประโยชน์สูงสุด ทุกชีวิตมีความสุข อยู่ดี กินดี และมีสันติภาพ ในขณะเดียวกันก็ยอมรับและธำรงรักษาซึ่งวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความแตกต่างหลากหลาย
แนวทางในการพัฒนาตามแนวคิด PROUT ประกอบด้วยสอง ส่วน คือการพัฒนาปัจเจกบุคคล และการปรับเปลี่ยนสังคม ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปอย่างจริงจัง
การพัฒนาปัจเจกบุคคล ประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ
1. การมีคุณธรรม จริยธรรม
2. การมีคลื่นสมองต่ำ
3. การมีภาพพจน์ของตนเองในด้านบวก
ด้วยเหตุนี้บุคคลที่ได้รับการพัฒนาตามแนวคิด PROUT แล้วจะมีลักษณะ ดังนี้
1. เป็นคนดีมีคุณธรรม
2. เป็นคนที่เห็นคุณค่าของตัวเอง
3. เป็นคนที่สนใจในความเป็นธรรมของคนในสังคม
4. เป็นคนที่มีระเบียบวินัยในตัวเองสูง
5. เป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัด
6. เป็นคนที่อยู่ห่างไกลจากสิ่งเสพติด
7. เป็นคนที่ทันสมัยแต่ไม่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยี
8. เป็นคนที่เคารพตนเองและเคารพคนอื่น
9. เป็นคนมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ในหลาย ๆ ด้านของชีวิต
(คัดลอกมาจากhttp://gotoknow.org/blog/neo-humanist/192616)
แนวคิดนีโอ-ฮิวแมนนีสนี้ ได้ถูกนำมาใช้ในวงการศึกษา ส่วนตัวคิดว่าน่าจะนำมาใช้ในการบริการสาธารณสุขได้โดยการพัฒนาปัจเจกบุคคลให้มีคุณธรรมจริยธรรม การมึคลื่นสมองต่ำ ที่สอดคล้องกับที่ อ.นพ.วัชรพลได้พูดถึงในการอบรม ESB ว่าผู้ที่มีคลื่นสมองระดับอัลฟ่าลงมา(หรือขึ้นไปตามระดับคุณภาพของคลื่นสมอง) จะสามารถมีพฤติกรรมบริการที่ดี และการมองตัวเองโดยมีภาพพจน์ในด้านบวก ก็จะพัฒนาตนเองให้รักตนเองและรักเพื่อนมนุษย์ด้วย เพราะคนที่มีความสุขแล้วย่อมจะเผื่อแผ่ความสุขให้คนอื่นได้ตอนนี้กำลังฝึกตัวเองแบบนีโอ-ฮิวแมนนีสอยู่ตาม Entry ที่เคยเขียนไปแล้ว มีรายงานวิจัยว่าผู้ที่มีคลื่นสมองต่ำสามารถทำให้ผู้อยู่ใกล้มีคลื่นสมองต่ำตามไปด้วยได้ อยากเห็นชุมชนคนสารภีมีการพัฒนาตามแนวคิดนี้บ้าง เพื่อตนเองและผู้ที่มาใช้บริการของเราจะได้มีความสุข ผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมแนวคิดนี้เชิญมาคุยกันได้นะคะ ไม่แน่ว่าชุมชนคนสารภีอาจเป็นหน่วยงานสาธารณสุขแห่งแรกที่นำแนวคิดนี้มาใช้เหมือนกับวงการศึกษานำมาใช้ ผู้ที่มีลูกเรียนอยู่ ร.ร.มงฟอร์ตลองศึกษาหรือถามลูกดูนะคะ ให้ลูกสอนเต้นเกาชิกิก็ได้
บาบานัม เควาลัม แปลว่า ความรักมีอยู่ทุกแห่งหน หรือ Love is all there is หรือ Love is everywhere เป็นบทมนตราที่เชื่อว่า ทำให้คลื่นสมองลดลงต่ำได้รวดเร็ว
ขอตัวไปเต้นเกาชิกิก่อนนะคะ